คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามระเบียบของจำเลยมีความว่าพนักงานที่ขาดงานในรอบปีจักต้องรับโทษทางวินัย คือ ขาดงานครั้งแรกตัดเงินเดือนร้อยละ 5 ขาดงานครั้งที่ 2 ตัดเงินเดือนร้อยละ 6 ขาดงานครั้งที่ 3 ถ้า ได้ขาดงานมาแล้วในครั้งที่ 1 และ 2 รวมกับครั้งที่ 3 แล้วเกิน 10 วัน ให้ลงโทษไล่ออกฯ โจทก์ขาดงานครั้งแรก 7 วัน ครั้งที่ 2 จำนวน 1 วันครั้งที่ 3 จำนวน 6 วันรวม 3 ครั้ง ขาดงาน 14 วัน ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้ทำรายงานเพื่อพิจารณาโทษการขาดงานครั้งที่ 1 และ 2อยู่แล้ว แต่โจทก์ขาดงานแต่ละครั้งในระยะใกล้เคียงกัน จำเลยยังไม่ทันมีคำสั่งลงโทษตามขั้นตอน โจทก์ก็มาขาดงานครั้งที่ 3 จำเลยจึงนำมารวมพิจารณาลงโทษโดยรวมการขาดงานของโจทก์ทั้งสามครั้งแล้วลงโทษไล่ออกได้ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานเป้นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอให้เพิกถอนคำสั่งและรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์จนกว่าจะรับกลับเข้าทำงาน
จำเลยให้การว่าการเลิกจ้างเป็นธรรมแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ตามระเบียบบริษัทขนส่งจำกัดว่าด้วยการลา พุทธศักราช 2522 (เอกสารหมาย ล.2) ข้อ 43 กำหนดไว้ว่า “พนักงานที่ขาดงานในรอบปีตามข้อ 42 จักต้องได้รับโทษทางวินัยดังนี้
43.1 ขาดงานครั้งที่ 1 ให้ตัดเงินเดือนร้อยละ 5 ของเงินเดือนคูณด้วยจำนวนที่ขาดงาน
43.2 ขาดงานครั้งที่ 2 ให้ตัดเงินเดือนร้อยละ 6 ของเงินเดือนคูณด้วยจำนวนวันที่ขาดงาน
43.3 ……….
43.4 ……….
43.5 ขาดงานครั้งที่ 3 ถ้าได้ขาดงานมาแล้วในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 รวมกับครั้งที่ 3 แล้วเกินกว่า 10 วัน ให้ลงโทษไล่ออกฐานมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่งและข้อบังคับของบริษัทฯ
43.6 ……….”
ส่วนข้อ 42 กำหนดไว้ว่า “การลงดทษพนักงานที่ขาดงานตามข้อ 43ให้คำนวณจำนวนครั้งที่ขาดงานในช่วงระหว่างวันที่ 1 สิงหาคมของปีที่แล้วถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ของปีปัจจุบัน” ซึ่งข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2527 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2528โจทก์ขาดงาน 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกขาดงานตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม2527 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2527 รวม 7 วัน ครั้งที่ 2 ขาดงานในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2527 จำนวน 1 วัน และครั้งที่ 3 ขาดงานตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 16 มกราคม 2528 รวม 6 วัน รวมสามครั้งโจทก์ขาดงาน 14 วัน กรณีจึงต้องด้วยระเบียบของจำเลยว่าด้วยการลา พ.ศ. 2522 ข้อ 43.5 ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น การที่จำเลยมีคำสั่งที่ 245/2528 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2528 ให้ไล่โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2528 จึงเป็นการลงโทษที่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยแล้ว หาจำเป็นที่จะต้องลงโทษตามขั้นตอนตั้งแต่การขาดงานครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ก่อนไม่ เพราะการที่โจทก์ขาดงานในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 นั้น ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ก็ได้ทำรายงานเพื่อพิจารณาโทษของโจทก์อยู่แล้วตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 โดยต้องเสนอไปตามลำดับชั้น ซึ่งต้องใช้เวลาบ้างแต่เนื่องจากโจทก์ขาดงานแต่ละครั้งในระยะที่ใกล้เคียงกัน จำเลยยังไม่ทันมีคำสั่งลงโทษตามขั้นตอนดังกล่าว โจทกืก็มาขาดงานอีกในครั้งที่ 3 จำเลยจึงนำมารวมพิจารณาลงโทษโดยรวมการขาดงานของโจทก์ทั้งสามครั้งได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษา”.

Share