แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ โจทก์ร่วมได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่าจำเลยทั้งสองกับพวก เป็นหนี้โจทก์ร่วมทั้งหมดเป็นเงิน 6,500,000 บาท และโจทก์ร่วมลดหนี้ให้เหลือเป็นจำนวนเงิน 4,600,000 บาทเช็คฉบับพิพาทเป็นเช็คที่อยู่ในจำนวนหนี้ 6,500,000 บาท หนี้ตามเช็คพิพาทจึงระงับไปแล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 ระบุว่า คู่สัญญาคือโจทก์และจำเลยทั้งสองจะถอนฟ้องซึ่งกันและกันซึ่งหมายถึงถอนฟ้องจำเลยในคดีนี้ด้วย ถือได้ว่าเป็นการยอมความในคดีอาญาแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนูญาต ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์ร่วมขอถอนคำร้องทุกข์เฉพาะจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุก1 ปี จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 1 มีข้อความระบุอยู่ว่าจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นหนี้โจทก์ร่วมอยู่ทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 6,500,000 บาท และโจทก์ร่วมลดหนี้ให้เหลือเป็นจำนวนเงิน 4,600,000 บาท ปรากฏตามสัญญาข้อ 2 เช็คพิพาทเป็นเช็คของห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2ได้รับมอบอำนาจโดยชอบให้ลงชื่อสั่งจ่ายในเช็คได้สัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล.3 กระทำขึ้นหลังจากฟ้องคดีนี้แล้ว ประกอบทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิได้ระบุไว้โดยแน่ชัดว่า เช็คฉบับใดบ้างที่คู่สัญญาถือว่าเป็นเช็คที่สัญญานี้คลุมถึง แต่กลับระบุว่าหนี้ตามเช็คทั้งหมดที่ผู้ให้สัญญา(คือจำเลยทั้งสองกับพวก) เป็นหนี้ผู้รับสัญญา (คือโจทก์ร่วม)ตามกรณีจึงต้องแปลว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่อยู่ในจำนวนหนี้6,500,000 บาท ดังกล่าว หนี้ตามเช็คพิพาทได้ระงับไปแล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ นอกจากนี้การสั่งจ่ายเช็คพิพาทของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการสั่งจ่ายในนามของห้างจำเลยที่ 1และตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ก็ระบุอยู่ว่าคูสัญญาคือโจทก์และจำเลยทั้งสองจะถอนฟ้องซึ่งกันและกัน ซึ่งย่อมหมายถึงการถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ด้วย ถือได้ว่าเป็นการยอมความในคดีอาญาด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน”