แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เงินที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำพิพากษานั้น ย่อมเป็นเงินที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินดังกล่าวจะต้องเรียกเอาภายใน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำเงินมาวางศาลอันเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเอาเงินนั้นได้เพราะคดีถึงที่สุดแล้ว หาใช่นับจากวันที่ที่โจทก์ได้รู้ว่ามีการวางเงินไม่ โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยได้นำเงินมาวางศาลเมื่อใดไม่ได้ เมื่อโจทก์มิได้เรียกเอาเงินดังกล่าวภายใน 5 ปี เงินจำนวนนี้จึงตกเป็นของแผ่นดิน และโจทก์เป็นอันสิ้นสิทธิที่จะขอรับไป แม้เงินจำนวนดังกล่าวยังคงเก็บรักษาไว้ที่ศาลชั้นต้นก็หาทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะขอรับเงินดังกล่าว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 40,000 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์และจำเลยฟังเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2539 ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยวางเงินจำนวน 40,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ตามพิพากษา โจทก์ยื่นคำแถลงขอรับเงินเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มารับเงินภายใน 5 ปี จึงไม่อาจมารับได้อีก ตกเป็นของแผ่นดิน ให้ยกคำแถลง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิรับเงินจำนวน 40,000 บาท ที่จำเลยนำมาวางศาลหรือไม่ เห็นว่า เงินจำนวน 40,000 บาท ที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำพิพากษานั้นย่อมเป็นเงินที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิเรียกเอาเงินดังกล่าวจะต้องเรียกเอาภายใน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยนำเงินมาศาลอันเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเอาเงินนั้นได้เพราะคดีถึงที่สุดแล้ว หาใช่นับจากวันที่โจทก์ได้รู้ว่ามีการวางเงินไม่ ดังนั้น โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยได้นำเงินมาวางศาลเมื่อใดไม่ได้ เมื่อโจทก์มิได้เรียกเอาเงินดังกล่าวภายใน 5 ปี เงินจำนวนนี้จึงตกเป็นของแผ่นดิน และโจทก์เป็นอันสิ้นสิทธิที่จะขอรับไป แม้เงินจำนวนดังกล่าวยังคงเก็บรักษาไว้ที่ศาลชั้นต้นก็หาทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะขอรับเงินดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน