คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4838-4839/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับบริษัท ป. และเป็นผู้ครองที่ดินพิพาทอยู่ แต่การจะใช้สิทธิชำระหนี้แทนบริษัท ป. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 230 ได้นั้นจะต้องเป็นการชำระหนี้แทนโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ด้วย เมื่อขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลย บริษัท ป. เป็นหนี้จำเลยตามคำพิพากษาตามยอมอยู่เป็นเงินประมาณ 18,852,600 บาท ทั้งเป็นการจำนองที่ดินแปลงใหญ่เพียงแปลงเดียวภายหลังที่ดินแปลงดังกล่าวได้แบ่งแยกเป็นแปลงย่อย ๆ โดยถือว่าที่ดินแปลงย่อยที่แบ่งแยกออกไปยังคงจำนองด้วยตามสัญญาเดิม ดังนั้น การจำนองที่ดินของบริษัท ป. เป็นการจำนองที่ดินเพียงแปลงเดียว มิใช่การจำนองที่ดินหลายแปลงอันจะแบ่งภาระการจำนองได้ โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวบังคับจำเลยให้ยอมรับการชำระหนี้บางส่วนแทนบริษัท ป. แล้วให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนสิทธิจำนองให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์สวมสิทธิเจ้าหนี้จำนองแทนจำเลยเพราะอาจเป็นการเสียหายแก่จำเลยได้
คดีที่มีข้อพิพาทเพียงว่าจำเลยจะต้องยอมให้โจทก์ชำระหนี้แทนลูกหนี้จำนองในจำนวนเงิน 700,000 บาท ได้หรือไม่ ไม่ใช่คดีมีทุนทรัพย์ เพราะแม้หากจำเลยจะต้องยอมให้โจทก์ชำระหนี้แทนลูกหนี้ตามที่ขอ ที่ดินพิพาทก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ป. อยู่ ปัญหาข้อนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์และจำเลย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า เมื่อระหว่างปี 2520 ถึงปี 2527 บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด ได้ทำโครงการจัดสรรบ้านและที่ดินใช้ชื่อว่า “หมู่บ้านประสานมิตร” บนที่ดินโฉนดเลขที่ 109377 ที่ดินดังกล่าวต่อมาได้แบ่งแยกเป็น 59 โฉนด คือที่ดินโฉนดเลขที่ 109377 (แปลงคง หรือแปลงหลัก) และโฉนดเลขที่ 131426 ถึง 131484 เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป การก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าว บริษัทประสานมิตรก่อสร้างจำกัด ได้รับการสนับสนุนการเงินจากจำเลยให้บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด กู้เบิกเงินเกินบัญชีไปใช้ในการทำโครงการหมู่บ้านจัดสรรบนที่ดินดังกล่าว โดยบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด จำนองที่ดินทุกแปลงเป็นประกันการชำระหนี้ และมีข้อตกลงว่าหากบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด หาผู้ซื้อบ้านจัดสรรได้และประสงค์จะโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อเมื่อใด จำเลยจะปลดจำนองให้เป็นรายแปลงเพื่อให้บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อ โดยให้ผู้ซื้อจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยตามราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ผู้ซื้อค้างชำระกับบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด และให้ถือว่าผู้ซื้อได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด กับให้ถือว่าบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด ชำระหนี้ส่วนหนึ่งให้แก่จำเลยด้วย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต่างทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่131427 พร้อมบ้านเลขที่ 13/9 และที่ดินโฉนดเลขที่ 131458 พร้อมบ้านเลขที่ 13/5 ตามลำดับ จากบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด เมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นลง โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยังค้างชำระราคาที่ดินพร้อมบ้านแก่บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด อยู่อีก 154,000 บาท และ 94,600 บาท ตามลำดับ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แจ้งให้นายปรีชา แก้วเกตุ กรรมการผู้จัดการบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านให้ แต่นายปรีชาหลีกเลี่ยงและหลบหนีไป ต่อมาจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด กับพวกเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขอให้ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วจำเลยกับบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด กับพวกได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด กับพวกยินยอมชำระหนี้ให้แก่จำเลยเป็นเงิน 10,930,971.43 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 13797/2531 ของศาลชั้นต้น ต่อมาบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด กับพวกลูกหนี้ผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 28 แปลง ที่จำนองไว้แก่จำเลยรวมทั้งที่ดินพร้อมบ้านที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด ไว้ด้วย ซึ่งหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด มีอยู่แก่จำเลยคำนวณถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเงิน 18,852,600 บาท เมื่อกระจายภาระแห่งหนี้จำนองในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ถูกยึดแล้ว ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแต่ละแปลงมีภาระแห่งหนี้จำนองไม่เกินแปลงละ 700,000 บาท ระหว่างวันที่16 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2534 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ขอชำระหนี้จำนองสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 131427 และ 131458 ตามภาระแห่งหนี้จำนองแปลงละ 700,000 บาท ให้แก่จำเลยแทนบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด เพื่อมิให้ถูกบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ซึ่งอาจทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหาย แต่จำเลยปฏิเสธโดยไม่มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย เพราะโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายกับเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ที่ดินและบ้านดังกล่าว ซึ่งโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิจะเข้าใช้หนี้แทนบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด ลูกหนี้ของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230 ประกอบมาตรา 227 ทั้งเป็นการผิดข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด ด้วย ขอให้มีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิเข้าใช้หนี้ภาระจำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 131427 และ 131458 ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ตามลำดับเต็มจำนวนภาระแห่งหนี้จำนองแปลงละ700,000 บาท แทนบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด กับให้จำเลยรับชำระหนี้ดังกล่าวแล้วให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนสิทธิจำนองให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สวมสิทธิเจ้าหนี้จำนองแทนจำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยเป็นเจ้าหนี้บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด กับพวก ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขคดีแดงที่ 13797/2531 ของศาลชั้นต้น และจำเลยได้บังคับคดีโดยนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 28 แปลง ที่บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด จำนองเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้แก่จำเลย จำเลยไม่มีข้อตกลงกับบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด ว่าหากบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด หาผู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงใดได้แล้วจำเลยจะปลดจำนองให้เป็นรายแปลงเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อจะต้องจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่จำเลยตามราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ผู้ซื้อค้างชำระแก่บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด และให้ถือว่าผู้ซื้อได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด กับให้ถือว่าบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัดชำระหนี้ส่วนหนึ่งให้แก่จำเลยด้วยตามที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้าง ส่วนการกระจายภาระแห่งหนี้จำนองในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 28 แปลง แต่ละแปลงมีภาระแห่งหนี้จำนองไม่เกินแปลงละ 700,000 บาท ตามที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 734 บัญญัติไว้ และไม่ได้เป็นไปตามความจริงและหลักเกณฑ์ที่จำเลยและสถาบันการเงินอื่นใช้อยู่ เพราะการกระจายภาระแห่งหนี้จำนองจะต้องคำนึงถึงสภาพที่ตั้งและเนื้อที่ของที่ดินแปลงนั้น ๆ พร้อมสิ่งปลูกสร้างด้วยภาระหนี้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทมีมากกว่าที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิในการไถ่ถอนหรือปลดจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2

โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยรับการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทตามฟ้องจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต้องชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองตามที่ค้างชำระอยู่จริง แต่ไม่เกินแปลงละ 700,000 บาท และให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้สวมสิทธิเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อปี 2520 บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลย มีการขอเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีหลายครั้ง รวมวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีประมาณ 7,200,000 บาท การกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด นำที่ดินโฉนดเลขที่ 109377ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร มาจดทะเบียนจำนอง นายปรีชา แก้วเกตุนำที่ดินโฉนดเลขที่ 45548 และ 40984 ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ดังกล่าวด้วย ต่อมาบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด ขอโฉนดเลขที่ 109377 ไปขอแบ่งแยกโฉนดเป็นแปลงย่อย ๆรวม 59 โฉนด และจดทะเบียนจำนองที่ดินทั้ง 59 โฉนด เป็นประกันหนี้ดังเดิมเมื่อวันที่18 มกราคม 2526 และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2526 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 131427 พร้อมบ้านและโฉนดเลขที่ 131458 พร้อมบ้านซึ่งเป็นโฉนดแปลงที่แยกออกไปจากโฉนดเลขที่ 109377 กับบริษัทประสานมิตรก่อสร้างจำกัด ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.18 ตามลำดับ แต่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านตามที่ทำสัญญาไว้ จนถึงปี 2529 บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่จำเลย จำเลยจึงฟ้องบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด กับพวกให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีพร้อมด้วยดอกเบี้ยต่อศาลชั้นต้น บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด กับพวกทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยโดยยอมชำระหนี้ให้จำเลยเป็นเงิน 10,903,971.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,448,118.61 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยแบ่งชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 140,000 บาท หากผิดนัดให้จำเลยบังคับยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาด ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นชำระหนี้จนครบ ศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 13797/2531 ของศาลชั้นต้น ต่อมาบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด ผิดนัด จำเลยจึงขอบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ที่ดินจำนวน 28 โฉนดของบริษัทประสานมิตรก่อสร้างจำกัด เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้จำเลย ซึ่งที่ดินจำนวน 28 โฉนดดังกล่าวมีที่ดินที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัดด้วย ต่อมามีการขายทอดตลาดและจำเลยปลดจำนองที่ดินบางโฉนดในจำนวน 28 โฉนดดังกล่าวให้แก่ผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด แล้วคงเหลือที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้รอการขายทอดตลาดอยู่ 6 โฉนด ซึ่งรวมทั้งที่ดินที่พิพาทคดีนี้ด้วย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เคยขอให้จำเลยปลดจำนองเฉพาะแปลงที่โจทก์ที่ 1และที่ 2 ครอบครองอยู่โดยเสนอชดใช้ราคาตามส่วนเฉลี่ยของราคาที่ดินที่บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด จำนอง แต่จำเลยปฏิเสธ

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิเข้าชำระหนี้บางส่วนแทนบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด ลูกหนี้ของจำเลยตามฟ้องได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า สัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับบริษัทประสานมิตรก่อสร้างจำกัด มีกำหนดเวลาชำระเงินและโอนกรรมสิทธิ์ไว้แน่นอน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทถือว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จะนำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมาอ้างเพื่อใช้สิทธิเข้าชำระหนี้แทนบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด ไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230 วรรคแรก บัญญัติว่า “ถ้าในการที่เจ้าหนี้นำบังคับยึดทรัพย์อันหนึ่งอันใดของลูกหนี้นั้น บุคคลใดจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในทรัพย์อันนั้นเพราะการบังคับยึดทรัพย์ไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นมีสิทธิจะเข้าใช้หนี้เสียแทนได้ อนึ่ง ผู้ครองทรัพย์อันหนึ่งอันใด ถ้าจะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิครองทรัพย์นั้นไปเพราะการบังคับยึดทรัพย์ก็ย่อมมีสิทธิจะทำได้เช่นเดียวกับที่ว่ามานั้น” และวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “ถ้าบุคคลภายนอกผู้ใดมาใช้หนี้แทนจนเป็นที่พอใจของเจ้าหนี้แล้ว บุคคลผู้นั้นย่อมเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ แต่สิทธิเรียกร้องอันนี้จะบังคับให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่เจ้าหนี้หาได้ไม่” ดังนี้ แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1และที่ 2 จะได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัดและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก็ตาม แต่การจะใช้สิทธิชำระหนี้แทนลูกหนี้ (บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด) ตามบทกฎหมายดังกล่าวได้นั้นจะต้องเป็นการชำระหนี้แทนโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ด้วย ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ที่ 1และที่ 2 นำสืบมาไม่ได้ความว่าจำเลยได้รับชำระหนี้ไปแล้วเพียงใด คงได้ความแต่เพียงว่าขณะโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยื่นฟ้องจำเลย บริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด เป็นหนี้จำเลยตามคำพิพากษาตามยอมอยู่เป็นเงินประมาณ 18,852,600 บาท ทั้งการจำนองรายนี้เป็นการจำนองที่ดินแปลงใหญ่เพียงแปลงเดียว คือที่ดินโฉนดเลขที่ 109377 ภายหลังที่ดินแปลงดังกล่าวได้แบ่งแยกเป็นแปลงย่อย ๆ โดยถือว่าที่ดินแปลงย่อยที่แบ่งแยกออกไปยังคงจำนองด้วยตามสัญญาเดิม ดังนั้น การจำนองที่ดินตามโฉนดเลขที่109377 ของบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด เป็นการจำนองที่ดินเพียงแปลงเดียวมิใช่การจำนองที่ดินหลายแปลงอันจะแบ่งภาระการจำนองได้ดังที่โจทก์ฟ้องโจทก์ที่ 1และที่ 2 จึงไม่อาจใช้สิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นบังคับจำเลยให้ยอมรับการชำระหนี้บางส่วนแทนบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด แล้วให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนสิทธิจำนองให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 สวมสิทธิเจ้าหนี้จำนองแทนจำเลยตามฟ้องเพราะอาจเป็นการเสียหายแก่จำเลยได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ และจำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์นั้น คดีนี้มีข้อพิพาทเพียงว่าจำเลยจะต้องยอมให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้แทนลูกหนี้จำนองในจำนวนเงินสำนวนละ 700,000 บาท ได้หรือไม่เท่านั้น จึงไม่ใช่เป็นคดีมีทุนทรัพย์เพราะแม้หากจำเลยจะต้องยอมให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้แทนลูกหนี้ตามที่ขอ ที่ดินพิพาทก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทประสานมิตรก่อสร้าง จำกัด อยู่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์ทั้งสองและจำเลย”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ส่วนที่โจทก์ทั้งสองเสียเกินกว่าสำนวนละ 200 บาท ในแต่ละชั้นศาลแก่โจทก์ทั้งสอง และคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนที่เกินกว่า 400 บาท แก่จำเลยด้วย

Share