แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทายาทตามพินัยกรรมตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าให้ถือเอาตามพินัยกรรมซึ่งตามกฎหมายเป็นโมฆะตามมาตรา 1705, 1653 แล้วนั้นใช้บังคับได้สัญญานั้นย่อมสมบูรณ์มีผลบังคับได้ เพราะพินัยกรรมนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและสัญญาประนีประนอมกันก็ไม่ต้องห้ามตามบทกฎหมายใดๆ
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมเพราะจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ถือเอาตามพินัยกรรมนั้นแล้วจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยทำสัญญาโดยสำคัญผิดว่าพินัยกรรมนั้นเป็นของแท้จริงและถูกต้องตามกฎหมายประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งจำเลยต่อสู้ว่าสามีจำเลยได้บอกล้างนิติกรรมที่จำเลยได้กระทำไปโดยมิได้รับความยินยอมแล้วเช่นนี้จำเลยซึ่งเป็นผู้กล่าวอ้างต้องนำสืบก่อน เมื่อไม่สืบก็ไม่มีข้อเท็จจริงจะวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่านางเฮียง เล็กประยูร ยายของโจทก์จำเลยได้ทำพินัยกรรมฉบับสุดท้ายยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้โจทก์จำเลยคนละครึ่งเมื่อนางเฮียงตายจำเลยกลับคัดค้านว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับมรดกแต่ผู้เดียวตามพินัยกรรมลงวันที่ 23 กันยายน 2486 และว่าพินัยกรรมลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2492 ไม่สมบูรณ์ เพราะนายอ่อนสามีโจทก์เป็นพยานในพินัยกรรม ความจริงโจทก์และนายอ่อนได้หย่าขาดกันก่อนวันนางเฮียงทำพินัยกรรมฉบับหลังแล้ว แต่อย่างไรก็ดีโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาปราณีประนอมยอมความกันรับตามพินัยกรรมฉบับสุดท้ายแล้วขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรม
จำเลยให้การว่าเมื่อนางเฮียงตายโจทก์อ่านพินัยกรรมลงวันที่ 22 กรกฎาคม2492 ให้จำเลยฟัง จำเลยไม่ได้ดูพินัยกรรม หลงเชื่อว่าเป็นของนางเฮียงจริงและสมบูรณ์ตามกฎหมายจึงได้ลงชื่อในหนังสือตามสำเนาท้ายฟ้อง ภายหลังจึงทราบว่าพินัยกรรมไม่สมบูรณ์เพราะพยานในพินัยกรรมเป็นสามีโจทก์ ฉะนั้นหนังสือที่จำเลยเซ็นตามสำเนาท้ายฟ้องจึงไม่สมบูรณ์เพราะจำเลยสำคัญผิด จำเลยได้บอกล้างแล้วและจำเลยเซ็นชื่อไปโดยนายจำรูญสามีจำเลยมิได้ยินยอม นายจำรูญได้บอกล้างไปยังโจทก์แล้ว
คู่ความรับกันตามรายงานพิจารณาว่า พินัยกรรมลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2492 นางเฮียงได้ทำไว้จริง ปัญหาที่ว่าโจทก์และสามียังเป็นสามีภรรยากันหรือไม่ในขณะทำพินัยกรรมนั้นโจทก์จำเลยขอให้ถือเอาคำพยานในสำนวนคดีแพ่งเลขแดงที่ 480/2493 ของศาลแขวงพระนครใต้และรับว่าสำนักงานกลางกระทรวงมหาดไทยได้รับสำเนาทะเบียนหย่าจากคณะกรมการอำเภอตะพานหินภายหลังนายปานจิตรเบิกความในสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 480/2493 แล้ว จำเลยรับว่าหนังสือลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2492 โจทก์จำเลยได้ทำกันไว้จริง โจทก์ยอมรับว่าสามีจำเลยได้บอกล้างไปยังนายอ่อนและนายเชาวน์แล้วแต่โจทก์ไม่ทราบ คู่ความตกลงไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาเป็นใจความสำคัญ 2 ข้อ คือ (1) ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์กับนายอ่อนได้หย่าขาดจากกันแล้วในขณะนางเฮียงทำพินัยกรรมฉบับที่โจทก์ฟ้อง(2) โจทก์ได้สิทธิตามสัญญาปรานีประนอม
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์กับนายอ่อนได้หย่าขาดจากกันก่อนนางเฮียงถึงแก่กรรม ฎีกาโจทก์ที่ว่าพินัยกรรมสมบูรณ์จึงตกไป ส่วนฎีกาข้อต่อไปนั้นเห็นว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องอ้างสิทธิจากสัญญาปรานีประนอมยอมความด้วย จำเลยมิได้ปฏิเสธและนำสืบว่าไม่ใช่สัญญาปรานีประนอมยอมความ จึงต้องฟังว่าเป็นสัญญาปรานีประนอมยอมความ ปัญหาคงมีว่าที่ตกลงจะขอถือเอาตามข้อกำหนดในพินัยกรรมที่เป็นโมฆะนั้นจะใช้ได้หรือไม่ เห็นว่าพินัยกรรมนี้ที่เป็น โมฆะ ก็เพราะสามีของผู้รับพินัยกรรมลงชื่อเป็นพยานขัดต่อมาตรา 1653 หาใช่เพราะวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีไม่ ฉะนั้นสัญญาปรานีประนอมจึงใช่ได้ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายบทใด ตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าจำเลยลงชื่อในหนังสือนั้นโดยสำคัญผิดว่าเป็นพินัยกรรมที่แท้จริงและถูกต้องตามกฎหมายก็ดีนิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ สามีจำเลยได้บอกล้างแล้วก็ดีจำเลยเป็นผู้กล่าวอ้างขึ้นจึงต้องนำสืบ แต่จำเลยไม่สืบพยาน จึงไม่มีข้อเท็จจริงจะวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยได้พิพากษากลับว่าโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของนางเฮียงตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่22 กรกฎาคม 2492 โดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาปรานีประนอมยอมความที่ทำขึ้นนั้น