คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3507/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 นำรถยนต์โดยสารไปเข้าร่วมวิ่งกับบริษัทจำเลยที่ 3 ในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ 3 ภายในรถยนต์โดยสารมีประกาศของบริษัทจำเลยที่ 3 ติดอยู่และตั๋วโดยสารก็เป็นตั๋วของบริษัทจำเลยที่ 3 ถือได้ว่าคนขับรถโดยสารคันดังกล่าวเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 3 เมื่อลูกจ้างขับรถยนต์โดยสารโดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายมีผู้บาดเจ็บและตายอันเป็นการทำละเมิดในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 1 ที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องมีใจความว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ชม. ๐๑๘๕๐ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้มีสิทธิในการเดินรถยนต์โดยสารในเส้นทางสายเชียงราย – เชียงของ จำเลยที่ ๓ ได้รับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวเข้าเป็นรถร่วมกับจำเลยที่ ๓ จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจ้างคนขับรถคันนี้รับส่งคนโดยสารไปตามเส้นทางดังกล่าว วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ คนขับรถยนต์โดยสารของจำเลยได้ขับรถยนต์โดยสารรับส่งคนโดยสารไปตามเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ ๓ โดยประมาทเลินเล่อชนกับรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน ก. ๓๓๓๙ สงขลา ของนายยืนยง หอพัฒนาวุฒิวงศ์ โจทก์เสียหาย ผู้ที่นั่งมาในรถเก๋งคือ นายเจียร ชูเรืองสุข ถึงแก่ความตายทันทีนางอัมพรสมชีพ โจทก์ และนางสาวปรีดา หุ้นล่อง โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๘,๙๗๕ บาท ๘๔,๐๐๐ บาท ๓๙,๕๐๐ บาท ๓๐๕,๐๐๐ บาท และ ๖๘๗,๐๔๒ บาท แก่นางอัมพรโจทก์ นางเชือนโจทก์ นางดวง เด็กชายวรศักดิ์เด็ดชายประจักษ์โจทก์ และนายยืนยงโจทก์ ตามลำดับพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามทุกสำนวนให้การว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ชม. ๐๑๘๕๐และผู้ขับรถไม่ได้เป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสาม เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทของผู้ขับรถยนต์เก๋งขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ร่วมกันชำระเงิน ๘,๔๗๕ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ ชำระเงิน ๘๔,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๒ ชำระเงิน ๑๖,๕๒๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๓ ชำระเงิน ๒๙๗,๗๗๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๔ และชำระเงิน ๘๘,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๕ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ทุกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ทุกสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานโจทก์คือร้อยตำรวจเอกบังคม คีติสารซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีที่รถยนต์ทั้งสองคันชนกัน เบิกความว่า จากการสืบสวนทราบว่า รถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ชม.๐๑๘๕๐ เป็นของจำเลยที่ ๑ จึงได้สอบถามไปยังบริษัทจำเลยที่ ๓ ซึ่งก็ได้ความว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ ๑มาขอเข้าร่วมกับบริษัทจำเลยที่ ๓ แต่ยังไม่ได้นำหลักฐานมาเข้าร่วม จากการสอบสวนจำเลยที่ ๑ ให้การว่าเดิมรถยนต์คันนี้เป็นของจำเลยที่ ๑ ต่อมาได้ขายให้นายสุรเชษฐ์ บุตรเขยไป ซึ่งจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ นำสืบรับในข้อเหล่านี้ รูปคดีมีเหตุผลน่าเชื่อว่า รถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ชม. ๐๑๘๕๐ เป็นของจำเลยที่ ๑ ที่จำเลยที่ ๑ ว่า ได้ขายให้นายสุรเชษฐ์บุตรเขยไปนั้นเห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานการซื้อขาย ส่วนการที่จำเลยที่ ๑ นำรถยนต์ไปเข้าร่วมวิ่งกับบริษัทจำเลยที่ ๓ นั้น ได้ความว่ารถยนต์โดยสารคันดังกล่าวได้เข้าไปวิ่งในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ ๓ จนเกิดเหตุคดีนี้ขึ้น ทั้งภายในรถยนต์โดยสารก็มีประกาศคำเตือนของบริษัทจำเลยที่ ๓ ที่ให้ผู้โดยสารซึ่งไม่ได้เสียค่าระวางสิ่งที่นำมาห้องระวังรักษาของนั้นเอง โดยทางบริษัทจะไม่รับผิดชอบถ้าสูญหาย และได้ความจากนายพลวัน เดชประมวลพลพยานโจทก์ ซึ่งเป็นทนายความของโจทก์และร้อยตำรวจโทโกวิทโรจน์แสงรัตน์ พยานโจทก์ ซึ่งเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงรายว่า หลังเกิดเหตุแล้ว นายพลวันได้ไปขอตรวจค้นรถยนต์โดยสารคันนี้ ซึ่งถูกยึดไว้เป็นของกลาง จากการตรวจค้นพบเศษตั๋วโดยสารซึ่งเป็นตั๋วของบริษัทจำเลยที่ ๓ ในรถ แสดงให้เห็นว่า มีการตกลงยินยอมให้จำเลยที่ ๑ นำรถเข้าไปวิ่งร่วมในเส้นทางของจำเลยที่ ๓ แล้วจึงถือได้ว่าคนขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ เมื่อลูกจ้างดังกล่าวทำละเมิดในทางการที่จ้างจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ รับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ สำนวนที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะที่เกี่ยวกับสำนวนคดีแรกให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และยกฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ สำหรับสำนวนคดีแรกและสำนวนคดีที่ ๓ เสีย ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกาทั้งหมดสำหรับคดีสองสำนวนดังกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ สำนวนคดีที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ให้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๖๐๐ บาท ๒,๐๐๐ บาท และ ๖๐๐ บาทแทนโจทก์ในสำนวนคดีที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ ตามลำดับ.

Share