แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รถยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ขับในขณะเมาสุราและขับรถหลบหนีด้วยความเร็วสูงโดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นถือเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรงอันพึงริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) (4) (8), 157, 160, 160 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 46 และให้จำเลยทำประกันและทัณฑ์บนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 46 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) (4) (8), 157 (ที่ถูก มาตรา 43 (2) (8) ), 160 (ที่ถูก 160 วรรคสาม), 160 ตรี (ที่ถูก 160 ตรี วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถในขณะเมาสุรา จำคุก 2 เดือน ปรับ 12,000 บาท ฐานขับขี่รถไม่คำนึงถึงความปลอดภัย จำคุก 2 เดือน ปรับ 8,000 บาท รวมจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือนปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 2 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยทำทัณฑ์บนไว้กับศาลว่าจะไม่ก่อเหตุร้ายหรือกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีกภายใน 6 เดือน นับแต่วันนี้ หากผิดสัญญายินยอมให้ปรับ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถในขณะเมาสุรา ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 12,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 1 เดือน และปรับ 6,000 บาท และให้ริบรถยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า รถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอันพึงริบหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตหรือทรัพย์สินของผู้ใดประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ก็ปรากฏเพียงว่าจำเลยได้ขับรถพุ่งชนแผงเหล็กซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจกำลังจะนำเข้าสกัด ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยขับรถด้วยความเร็วเท่าใด รถยนต์ของกลางจึงเป็นยานพาหนะที่จำเลยใช้ในการเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้กระทำความผิดโดยตรงนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์ในขณะเมาสุราไปตามถนนเลี่ยงเมือง เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเรียกให้หยุดรถเพื่อขอตรวจค้นหาสิ่งผิดกฎหมาย จำเลยได้เร่งเครื่องยนต์ขับหลบหนีด้วยความเร็วสูง เจ้าพนักงานตำรวจได้ให้สัญญาณไฟและนำแผงเหล็กมากั้นไว้ แต่จำเลยได้ขับรถพุ่งชนแผงเหล็กซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจกำลังจะนำเข้าสกัด อันเป็นการขับรถโดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นที่สัญจรไปมาบนถนนดังกล่าว ดังนี้ รถยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ขับในขณะเมาสุราและโดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นถือเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรงอันพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน