คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11695/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยหรือมากไปกว่าที่กำหนดในสัญญานั้น ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคหนึ่ง วางหลักไว้ว่า ผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือจะรับไว้ และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก โดยมีมาตรา 467 บัญญัติต่อไปว่า “ในข้อรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบ” แสดงว่านอกจากกฎหมายให้สิทธิผู้ซื้อที่จะฟ้องผู้ขายให้รับผิดในทรัพย์สินส่วนที่ส่งมอบขาดได้แล้ว ยังให้สิทธิแก่ผู้ขายที่จะฟ้องเรียกทรัพย์สินส่วนที่ส่งมอบล้ำจำนวนไปคืนจากผู้ซื้อได้ด้วย ซึ่งทั้งสองกรณี ไม่ว่าผู้ซื้อหรือผู้ขายจะเป็นผู้ฟ้อง ต้องฟ้องเสียภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบ คดีนี้โจทก์ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายแก่จำเลยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2527 หากเนื้อที่ดินที่ส่งมอบล้ำจำนวนไปจากที่ระบุในสัญญา โจทก์ก็ต้องฟ้องให้จำเลยรับผิดคืนส่วนที่ล้ำจำนวนไปเสียภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบคือต้องฟ้องภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2528 ดังนั้น การที่โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องในปี 2555 จึงเป็นการฟ้องที่เกินกำหนดอายุความตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 3595 ตำบลสระลงเรือ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 14 ตารางวา ให้โจทก์ หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนได้ให้จำเลยใช้ราคาแทนเป็นเงิน 200,000 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน โจทก์มีที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่ตำบลดอนแสลบ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี หนึ่งแปลง เนื้อที่ 33 ไร่ 35 ตารางวา ปี 2527 โจทก์แบ่งขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลย 17 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา เจ้าพนักงานที่ดินได้แบ่งแยกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เดิมออกเป็นสองแปลงจำเลยได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขเดิมคือเลขที่ 3929 ส่วนโจทก์ได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขใหม่ คือ เลขที่ 3930 ซึ่งระบุเนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา ต่อมาปี 2543 จำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3929 ไปขอออกโฉนดที่ดิน วันที่ 12 เมษายน 2543 เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแล้วออกโฉนดที่ดินให้ตามขอคือ โฉนดที่ดินเลขที่ 3595 ตำบลสระลงเรือ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี โดยระบุว่าที่ดินมีเนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา ซึ่งเกินกว่าที่ระบุในสัญญาขายที่ระบุเนื้อที่ดินที่ซื้อขายมีจำนวน 17 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา วันที่ 28 มีนาคม 2555 โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้จำเลยคืนที่ดินส่วนที่เกินจาก 17 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา ให้แก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยหรือมากไปกว่าที่กำหนดในสัญญานั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 466 วรรคหนึ่ง วางหลักไว้ว่า ผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือจะรับไว้และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ ตามแต่จะเลือก โดยมีมาตรา 467 บัญญัติต่อไปว่า “ในข้อรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบ” แสดงว่านอกจากกฎหมายให้สิทธิผู้ซื้อที่จะฟ้องผู้ขายให้รับผิดในทรัพย์สินส่วนที่ส่งมอบขาดได้แล้ว ยังให้สิทธิแก่ผู้ขายที่จะฟ้องเรียกทรัพย์สินส่วนที่ส่งมอบล้ำจำนวนไปคืนจากผู้ซื้อได้ด้วย ซึ่งทั้งสองกรณีไม่ว่าผู้ซื้อหรือผู้ขายจะเป็นผู้ฟ้อง ต้องฟ้องเสียภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบ คดีนี้โจทก์ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายแก่จำเลยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2527 หากเนื้อที่ดินที่ส่งมอบล้ำจำนวนไปจากที่ระบุในสัญญา โจทก์ก็ต้องฟ้องให้จำเลยรับผิดคืนส่วนที่ล้ำจำนวนไปเสียภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบคือต้องฟ้องภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2528 ดังนั้น การที่โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องในปี 2555 จึงเป็นการฟ้องที่เกินกำหนดอายุความตามกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคดีขาดอายุความชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่อ้างทำนองว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีนับแต่เวลาที่โจทก์ทราบว่ามีการส่งมอบล้ำจำนวนนั้นฟังไม่ขึ้น ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share