คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6428/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายจะขอได้เฉพาะในคดีที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จะมาขอในชั้นฎีกาไม่ได้
จำเลยที่ 2 มีข้อตกลงตามสัญญาเช่ารถยนต์คันเกิดเหตุกับโจทก์ที่ 3 ที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เกี่ยวข้องกรณีรถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุทุกกรณีด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นความคุ้มครองแก่ผู้เกี่ยวข้องหรือโจทก์ที่ 3 ตามสัญญาเช่ารถยนต์
ตามสัญญาเช่ารถยนต์ ข้อ 12 ระบุไว้ว่า ผู้ให้เช่ารถยนต์ตกลงว่ารถยนต์จะได้รับความคุ้มครองโดยการประกันภัยแบบครบวงจรด้วยค่าใช้จ่ายของผู้ให้เช่าเอง และได้กำหนดตารางรายละเอียดความคุ้มครองและขีดจำกัดการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้ สัญญาเช่ารถยนต์ ข้อ 12 ดังกล่าว คือข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ที่ 3 เป็นสัญญาต่างตอบแทนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวคือจัดทำสัญญาประกันภัยตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน ข้อ 12
จำเลยที่ 2 ได้จัดทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าไว้กับบริษัท ธ. และบริษัทผู้รับประกันภัยดังกล่าวได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ยังไม่ครบตามเงื่อนไขข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 3 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญารับผิดชดใช้เงินตามข้อตกลงข้อ 12 ส่วนที่เกินจากที่บริษัท ธ. จ่ายแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,627,606.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,394,251.29 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสามกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสาวรพีพรทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทศรีอยุธยาเจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 3,394,251.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 มกราคม 2556) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3 ให้นางสาวรพีพร ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 250,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ทั้งนี้นางสาวรพีพรไม่ต้องร่วมรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 1 ที่ตกทอดแก่ตน และจำเลยร่วมไม่ต้องร่วมรับผิดในต้นเงินต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เกินกว่าคนละ 100,000 บาท กับให้นางสาวรพีพร จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสามเฉพาะค่าขึ้นศาลให้นางสาวรพีพร จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสามชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องคือวันที่ 17 มกราคม 2556 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดในต้นเงินแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่เกินคนละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ชนะคดีในศาลชั้นต้น โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 2 และยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้นางสาวรพีพรชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 3 นั้น เห็นว่า การขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายจะขอได้เฉพาะในคดีที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จะมาขอในชั้นฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างโจทก์ที่ 3 ให้ดำเนินการก่อสร้างตามโครงการปรับปรุงทางรถไฟระยะที่ 5 สายตะวันออกเฉียงเหนือ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นพนักงานของบริษัทที่ปรึกษาและควบคุมการก่อสร้างงานโครงการดังกล่าวโดยโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินงานจนแล้วเสร็จ และโจทก์ที่ 3 ยังมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลสนับสนุน อำนวยความสะดวก ประกันภัย และสวัสดิการให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากการรถไฟแห่งประเทศไทยให้มีอำนาจตรวจสอบ อนุมัติงาน และจ่ายเงินค่างานตามปริมาณงานในโครงการฯ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บท 7122 ชัยภูมิ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน ฎอ 1722 กรุงเทพมหานคร จำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บท 7122 ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 โจทก์ที่ 3 เช่ารถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน ฎอ 1722 กรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 2 เดิมจำเลยที่ 2 ส่งมอบรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน ญฬ 6030 กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ที่ 3 ตามสัญญา แต่เกิดปัญหาขัดข้อง จำเลยที่ 2 จึงเปลี่ยนรถยนต์กระบะให้ใหม่เป็นรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน ฎอ 1722 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2555 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา นายอนุกูล พนักงานของโจทก์ที่ 3 ขับรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน ฎอ 1722 กรุงเทพมหานคร มีโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนางสาวศศิธร โดยสารมาในรถไปตามถนนสุรนารายณ์ จากอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา มุ่งหน้าไปอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เมื่อขับไปถึงบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านโคกเริงรมย์ ตำบลโคกเริงรมย์ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เกิดเหตุชนกับรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บท 7122 ชัยภูมิ ที่จำเลยที่ 1 ขับสวนมาโดยมีนางสาวรพีพร นางสาวจริญญาพรและหลานอีกคนหนึ่งโดยสารมาในรถ เป็นเหตุให้รถยนต์กระบะทั้งสองคันได้รับความเสียหาย และผู้โดยสารมาในรถยนต์กระบะทั้งสองคันได้รับบาดเจ็บสาหัส
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่ารถยนต์ ข้อ 12 ระบุไว้ว่า ผู้ให้เช่ารถยนต์ตกลงว่ารถยนต์จะได้รับความคุ้มครองโดยการประกันภัยแบบครบวงจรด้วยค่าใช้จ่ายของผู้ให้เช่าเอง และได้กำหนดตารางรายละเอียดความคุ้มครองและขีดจำกัดการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้ สัญญาเช่ารถยนต์ ข้อ 12 ดังกล่าว คือข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ที่ 3 เป็นสัญญาต่างตอบแทนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวคือ จัดทำสัญญาประกันภัยตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในข้อ 12 เมื่อพิจารณาเงื่อนไขข้อตกลงดังกล่าวมีระบุไว้ในข้อ 3 ว่า ความคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุต่อบุคคลสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารและระบุขีดจำกัดการชดใช้เงิน (ไม่เกิน) ไว้ 500,000 บาท ต่อคน (สูงสุดไม่เกิน 5 คน) ข้อ 4 ค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารเป็นวงเงินสูงสุดโดยระบุขีดจำกัดการชดใช้ (ไม่เกิน) 100,000 บาท ต่อคน ตามข้อเท็จจริงจำเลยที่ 2 ได้จัดทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าไว้กับบริษัทธนชาติประกันภัย จำกัด แล้ว และบริษัทผู้รับประกันภัยดังกล่าวได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไปคนละ 250,000 บาท แต่ยังไม่ครบตามเงื่อนไขข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ที่ 3 โจทก์ที่ 3 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญารับผิดชดใช้เงินตามข้อตกลง ข้อ 12 ตารางความคุ้มครองข้อ 3 และข้อ 4 ส่วนที่เกินจากที่บริษัทธนชาตประกันภัย จำกัด จ่ายแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไปอีกคนละ 350,000 บาท รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 700,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share