แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 8 (3) บัญญัติห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีสาม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ซึ่งตามบัญชีสามข้อ (11) ได้กำหนดการทำกิจการนายหน้าหรือตัวแทนไว้ด้วย แต่ยกเว้นไว้ 4 กรณี ได้แก่ (ก) การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์หรือการบริการที่เกี่ยวกับการซื้อขายล่วงหน้าซึ่งสินค้าเกษตรหรือตราสารทางการเงินหรือหลักทรัพย์ (ข) … (ค) … (ง) . โดยไม่มีข้อกำหนดว่าการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535บทบัญญัติมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กำหนดว่า กรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องการถือหุ้น การเป็นหุ้นส่วนหรือการลงทุนของคนต่างด้าว การอนุญาตหรือการห้ามคนต่างด้าวในการประกอบธุรกิจบางประเภทหรือกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวไว้เป็นประการใด ให้ใช้บังคับตามกฎหมายและมิให้นำความใน พ.ร.บ. นี้ไปใช้บังคับในส่วนที่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว การประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์และการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนของจำเลยทั้งเจ็ดได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 8 (3) กรณีจึงไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจะเป็นการประกอบธุรกิจบริการอื่น อันจะเป็นการต้องห้ามตามบัญชีสาม ข้อ 21 หรือไม่ การประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าหรือตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์และเป็นที่ปรึกษาการลงทุนของจำเลยทั้งเจ็ด จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 8 (3)
ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ให้คำจำกัดความธุรกิจหลักทรัพย์ว่าหมายถึง ธุรกิจหลักทรัพย์ รวม 7 ประเภท ได้แก่ (1) การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (2) การค้าหลักทรัพย์ (3) การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน (4) การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และ (5) … (6) … (7) … และให้ความหมายการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ว่า การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนเพื่อซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ให้แก่บุคคลอื่นเป็นทางค้าปกติ โดยได้รับค่านายหน้า ค่าธรรมเนียม หรือค่าตอบแทนอื่น การค้าหลักทรัพย์หมายความว่า การซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ในนามของตนเองเป็นทางค้าปกติโดยกระทำนอกตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ การที่เป็นที่ปรึกษาการลงทุน หมายความว่า การให้คำแนะนำแก่ประชาชนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกี่ยวกับคุณค่าของหลักทรัพย์ หรือความเหมาะสมในการลงทุนที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น หรือที่เกี่ยวกับการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใด ๆ เป็นทางค้าปกติ ทั้งนี้โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น แต่ไม่รวมถึงการให้คำแนะนำแก่ประชาชนในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หมายความว่า การรับหลักทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนจากบริษัทหรือเจ้าของหลักทรัพย์ไปเสนอขายต่อประชาชน โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ยังได้ให้คำจำกัดความของหลักทรัพย์ว่าหมายถึง (1) ตั๋วเงินคลัง (2) พันธบัตร (3) ตั๋วเงิน (4) หุ้น (5) หุ้นกู้ (6) หน่วยลงทุนอันได้แก่ ตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิในทรัพย์สินของกองทุนรวม (7) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (8) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ (9) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงุทน และ (10) ตราสารอื่นใดที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด ซึ่งหลักทรัพย์ทั้งสิบประเภทมิได้กำหนดหรือจำกัดว่าเป็นหลักทรัพย์ในประเทศไทยเป็นการเฉพาะ แต่หมายถึงหลักทรัพย์ทั้งสิบประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้จำเลยทั้งเจ็ดอ้างว่ามิได้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยเนื่องจากนักลงทุนเป็นชาวต่างประเทศที่มิได้อยู่ในประเทศไทย หลักทรัพย์ที่ซื้อขายเป็นหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ทั้งไม่มีการนำเงินที่มีการซื้อขายเข้ามาในประเทศไทยจึงไม่เป็นความผิด แต่เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันทำการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในนาม ด. ในประเทศไทย จึงเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 4 ซึ่งตามมาตรา 90 บัญญัติว่า การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จะกระทำได้ต่อเมื่อได้จัดตั้งในรูปบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อเป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่น ทั้งนี้ โดยได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบกับเมื่อมีการตรา พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ขึ้นบังคับใช้ โดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2517 และ พ.ศ.2527 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดทุนทั้งตลาดแรกและตลอดรองให้กว้างขวางและเป็นสากลยิ่งขึ้น มีตราสารประเภทต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นและเพื่อควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งกระจายความรับผิดชอบอยู่หลายหน่วยงานให้มีความเป็นเอกภาพ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและสามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กฎหมายและหน่วยงานที่ใช้ในการกำกับเดียวกันโดยไม่ได้จำกัดว่าเป็นหลักทรัพย์ในตลาดทุนไทยหรือต่างประเทศ ทั้งไม่คำนึงว่าผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยเป็นคนสัญชาติใด ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตามมาตรา 90 เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยมิได้จัดตั้งในรูปบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือเป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งตามกฎหมายอื่น ทั้งนี้โดยได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90 วรรคหนึ่ง และต้องรับโทษตามมาตรา 289
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 4, 90, 289 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4, 8, 37 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และริบเอกสารของกลาง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90, 289 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 8, 37 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 200,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 การกักขังแทนค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับมีกำหนด 2 ปี ริบเอกสารตามบัญชีของกลางท้ายฟ้อง
โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 8 (3), 37 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 200,000 บาท ไม่รอการลงโทษ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90, 289 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยทั้งเจ็ดเป็นคนต่างด้าว โดยจำเลยที่ 1 สัญชาติออสเตรเลีย จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 สัญชาติไอริช และจำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 สัญชาติอังกฤษ ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งเจ็ดพำนักในประเทศไทย ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จัดให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ในนามเดอะบรินตัน กรุ๊ป มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ถนนสาทรใต้ กรุงเทพมหานคร โดยกระทำการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนชักชวนให้นักลงทุนในประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อลูกค้าสนใจและตกลงซื้อหลักทรัพย์ก็จะดำเนินการส่งเอกสารสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์ตลอดจนวิธีโอนเงินชำระราคาหลักทรัพย์เข้าบัญชีเงินฝากของกลุ่มเดอะบรินตัน กรุ๊ป โดยจำเลยทั้งเจ็ดได้รับค่านายหน้า ค่าธรรมเนียมและค่าตอบแทน เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งเจ็ดพร้อมยึดใบหุ้นและเอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นของกลาง โดยแจ้งข้อหาว่าร่วมกันประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือค้าหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นคนต่างด้าวร่วมกันประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดว่า การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 8 (3) หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 8 (3) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 บัญญัติห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีสาม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ซึ่งตามบัญชีสามข้อ (11) ได้กำหนดการทำกิจการนายหน้าหรือตัวแทนไว้ด้วย แต่ยกเว้นไว้ 4 กรณี ได้แก่ (ก) การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์หรือการบริการที่เกี่ยวกับการซื้อขายล่วงหน้าซึ่งสินค้าเกษตรหรือตราสารทางการเงินหรือหลักทรัพย์ (ข) … (ค) … (ง) … โดยไม่มีข้อกำหนดว่าการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กำหนดว่า กรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องการถือหุ้น การเป็นหุ้นส่วนหรือการลงทุนของคนต่างด้าว การอนุญาตหรือการห้ามคนต่างด้าวในการประกอบธุรกิจบางประเภทหรือกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวไว้เป็นประการใด ให้ใช้บังคับตามกฎหมายดังกล่าวและมิให้นำความในพระราชบัญญัตินี้ไปใช้บังคับในส่วนที่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว เมื่อการประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์และการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนของจำเลยทั้งเจ็ดได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 8 (3) กรณีจึงไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจะเป็นการประกอบธุรกิจบริการอื่น อันจะเป็นการต้องห้ามตามบัญชีสาม ข้อ 21 หรือไม่ อีก การประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าหรือตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์และเป็นที่ปรึกษาการลงทุนของจำเลยทั้งเจ็ด จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 8 (3) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดในความผิดนี้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90 หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ให้คำจำกัดความธุรกิจหลักทรัพย์ว่าหมายถึง ธุรกิจหลักทรัพย์ รวม 7 ประเภท ได้แก่ (1) การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (2) การค้าหลักทรัพย์ (3) การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน (4) การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (5) … (6) … (7) … และให้ความหมายการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ว่า การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนเพื่อซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ให้แก่บุคคลอื่นเป็นทางค้าปกติ โดยได้รับค่านายหน้า ค่าธรรมเนียม หรือค่าตอบแทนอื่น การค้าหลักทรัพย์หมายความว่า การซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ในนามของตนเองเป็นทางค้าปกติโดยกระทำนอกตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ การที่เป็นที่ปรึกษาการลงทุน หมายความว่า การให้คำแนะนำแก่ประชาชนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกี่ยวกับคุณค่าของหลักทรัพย์ หรือความเหมาะสมในการลงทุนที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น หรือที่เกี่ยวกับการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใด ๆ เป็นทางค้าปกติ ทั้งนี้โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น แต่ไม่รวมถึงการให้คำแนะนำแก่ประชาชนในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หมายความว่า การรับหลักทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนจากบริษัทหรือเจ้าของหลักทรัพย์ไปเสนอขายต่อประชาชน โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ยังได้ให้คำจำกัดความของหลักทรัพย์ว่าหมายถึง (1) ตั๋วเงินคลัง (2) พันธบัตร (3) ตั๋วเงิน (4) หุ้น (5) หุ้นกู้ (6) หน่วยลงทุนอันได้แก่ ตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิในทรัพย์สินของกองทุนรวม (7) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (8) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ (9) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงุทน และ (10) ตราสารอื่นใดที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด ซึ่งหลักทรัพย์ทั้งสิบประเภทมิได้กำหนดหรือจำกัดว่าเป็นหลักทรัพย์ในประเทศไทยเป็นการเฉพาะ แต่หมายถึงหลักทรัพย์ทั้งสิบประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันทำการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในนามเดอะบรินตัน กรุ๊ป ในประเทศไทย จึงเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 4 ซึ่งตามมาตรา 90 บัญญัติว่า การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จะกระทำได้ต่อเมื่อได้จัดตั้งในรูปบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด หรือเมื่อเป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่น ทั้งนี้ โดยได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยมิได้จัดตั้งในรูปบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือเป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่นซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ที่จำเลยทั้งเจ็ดอ้างว่าการประกอบธุรกิจของจำเลยทั้งเจ็ดมิใช่การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย เนื่องจากนักลงทุนเป็นชาวต่างประเทศที่มิได้อยู่ในประเทศไทย หลักทรัพย์ที่ซื้อขายเป็นหลักทรัพย์ของบริษัทในต่างประเทศ และมิได้มีการนำหลักทรัพย์ดังกล่าวมาจำหน่ายในตลาดทุนของประเทศไทย ทั้งไม่มีการนำเงินที่มีการซื้อขายเข้ามาในประเทศไทย จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า เดิมประเทศไทยมีการตราพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2517 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2527 ขึ้นบังคับใช้เพื่อควบคุมกำกับดูแลการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย แต่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2535 มีการตราพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ขึ้นบังคับใช้โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2517 และ พ.ศ.2527 ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดทุนทั้งตลาดแรกและตลอดรองให้กว้างขวางและเป็นสากลยิ่งขึ้น มีตราสารประเภทต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น และเพื่อควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งกระจายความรับผิดชอบอยู่หลายหน่วยงานให้มีความเป็นเอกภาพ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและสามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กฎหมายและหน่วยงานที่ใช้ในการกำกับเดียวกันโดยไม่ได้จำกัดว่าเป็นหลักทรัพย์ในตลาดทุนไทยหรือต่างประเทศ ทั้งไม่คำนึงว่าผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยเป็นคนสัญชาติใด เพราะหากปราศจากการกำกับดูแลของรัฐย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศซึ่งมีผลกระทบต่อตลาดทุน ระบบเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศไทยโดยตรง ดังนั้น การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามมาตรา 90 จึงครอบคลุมถึงการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลต่างประเทศ หากมีการดำเนินการชี้ชวน ติดต่อ ตกลงและซื้อขายผ่านนายหน้าหรือตัวแทนซึ่งอยู่ในประเทศไทย โดยไม่คำนึงว่าหลักทรัพย์ที่ดำเนินการซื้อขายจะอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ จะมีการโอนเงินเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตามมาตรา 90 เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันประกอบธุรกิจหลักทรัพย์โดยมิได้จัดตั้งในรูปบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือเป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งตามกฎหมายอื่น ทั้งนี้โดยได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90 วรรคหนึ่ง และต้องรับโทษตามมาตรา 289 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในความผิดนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90 วรรคหนึ่ง, 289 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 200,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 การกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี และริบเอกสารของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก