คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4823/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วันที่ 11 เมษายน 2531 อันเป็นวันนัดพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่งโจทก์จำเลยมาศาล ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วกำหนดนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 22 เมษายน 2531 เวลา 9 นาฬิกา วันเวลาดังกล่าวจึงเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ไม่ใช่วันนัดพิจารณาตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน ศาลแรงงานกลางก็ไม่ได้มีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาแต่มีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานนำเข้าสืบ และสั่งงดสืบพยานจำเลยพิพากษายกฟ้องโจทก์กระบวนพิจารณาที่ศาลแรงงานกลางดำเนินคดีมาไม่ใช่เป็นการ ิพิจารณาเลยขาดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 207 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยให้การต่อสู้หลายประการ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณาโจทก์จำเลยมาศาล ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วกำหนดให้โจทก์นำสืบพยานก่อนในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๑ เวลา ๙ นาฬิกา ถึงวันนัดดังกล่าวผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยมาศาล ส่วนโจทก์ไม่มาโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมานำเข้าสืบ ให้งดสืบพยานจำเลย นัดฟังคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้น และพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบตามข้อกล่าวอ้าง ให้ยกฟ้องโจทก์
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่อ้างว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์มาถึงศาลล่าช้าไปโดยมีเหตุอันควรศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์เป็นใจความว่า โจทก์มิได้จงใจขาดนัดพิจารณาเพราะโจทก์มีเหตุจำเป็นต้องเดินทางมาศาลโดยรถยนต์ประจำทาง บ้านโจทก์อยู่ห่างจากศาลมาก และการจราจรในช่วงเช้าของวันนั้นติดขัดมาก ทั้งโจทก์ได้ไปรับพยานโจทก์ด้วย โจทก์และพยานมาถึงศาลเวลาประมาณ ๑๐ นาฬิกาล่วงเลยเวลานัดของศาลจึงมีเหตุอันสมควรที่ทำให้โจทก์มาศาลไม่ทันเวลานัดพิจารณา โจทก์มีพยานหลักฐานที่จะนำสืบได้ตามคำฟ้อง และมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ทั้งโจทก์ได้รีบยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดและมีเหตุสมควรที่จะต้องไต่สวนถึงเหตุแห่งความจำเป็นที่โจทก์มาศาลไม่ได้ตามคำร้อง และมีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีนี้ใหม่ตามกฎหมายต่อไปนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วได้ความว่าในวันนัดพิจารณาศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อน และนัดสืบพยานโจทก์วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๑ เวลา ๙ นาฬิกา ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าวโจทก์และพยานไม่มาศาล จนกระทั่งเวลา ๙.๓๐ นาฬิกา ศาลแรงงานกลางจึงได้จดรายงานกระบวนพิจารณาว่าโจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งถึงเหตุที่ไม่มาให้ศาลทราบจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ และงดสืบพยานจำเลยนัดฟังคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้นเอง แล้วพิพากษาว่าชั้นพิจารณาศาลกำหนดให้โจทก์นำสืบในประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดหรือละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร และประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยตามฟ้องหรือไม่จำนวนเท่าใดในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ไม่มาศาล ศาลจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบการที่โจทก์ฟ้องจึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานนำสืบตามข้อกล่าวอ้าง จึงรับฟังไม่ได้พิพากษายกฟ้อง ต่อมาวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๓๑ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ตามกฎหมายต่อไป ศาลแรงงานกลางสั่งว่าไม่มีเหตุตามกหมายที่จะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ให้ยกคำร้อง เช่นนี้เห็นว่าในกรณีที่โจทก์ไม่มาศาล พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๐ วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “เมื่อโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลตามมาตรา ๓๗ แล้วไม่มาตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุที่ไม่มาให้ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลแรงงานมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ” และวรรคสามบัญญัติว่า “ในกรณีที่โจทก์ได้แจ้งเหตุให้ศาลแรงงานทราบเหตุแล้ว และศาลแรงงานเห็นเป็นการสมควรก็ให้กำหนดวันเวลานัดใหม่เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมาศาลซึ่งเป็นบทบัญญัติกำหนดให้ โจทก์มาศาลตามกำหนดเวลาที่ศาลนัด ในกรณีที่โจทก์ได้ทราบคำสั่งที่สั่งให้โจทก์มาศาลในวันเวลาที่ศาลนัดพิจารณาตามมาตรา ๓๗ ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อศาลแรงงานสั่งรับคดีไว้พิจารณาแล้ว ให้ศาลแรงงานกำหนดวันเวลาในการพิจารณาโดยเร็ว และออกหมายเรียกจำเลยให้มาศาลตามกำหนดในหมายนั้น ให้จดแจ้งรายการแห่งข้อหาและคำขอบังคับให้จำเลยทราบและให้ศางแรงงานสั่งให้โจทก์มาศาลในวันเดียวกันนั้นด้วย” เช่นนี้จึงเห็นได้ว่า ถ้าโจทก์ได้ทราบคำสั่งที่ให้โจทก์มาศาลในวันเวลาที่ศาลนัดพิจารณาแล้ว โจทก์จะต้องมาศาลตามกำหนดเวลาที่ศาลนัด ถ้าโจทก์มีความจำเป็นที่จะมาศาลไม่ได้ โจทก์จะต้องแจ้งเหตุหรือความจำเป็นนั้น ๆ ให้ศาลทราบหากศาลแรงงานกลางเห็นว่าเหตุหรือความจำเป็นตามที่แจ้งนั้นเป็นการสมควร ศาลแรงงานกลางก็จะกำหนดวันเวลาที่จะนัดให้โจทก์กับจำเลยมาพร้อมกันใหม่อีกแต่ถ้าโจทก์ไม่แจ้งเหตุหรือความ จำเป็นที่มาศาลไม่ได้ให้ศาลทราบ หรือเหตุที่แจ้งหรือความจำเป็นนั้นศาลเห็นว่าไม่ใช่เหตุหรือความจำเป็นที่จะทำให้ถึงกับมาศาลไม่ได้ ศาลแรงงานกลางจะต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปแล้วมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตาม มาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง หากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามวรรคหนึ่งนี้ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะมาขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเพื่อให้ดำเนิน กระบวนพิจารณาคดีนั้นใหม่ต่อไปได้ตามมาตรา ๔๑ ตามที่โจทก์อุทธรณ์แต่กรณีนี้ได้ความว่า ในวันนัดพิจารณาเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๓๑ อันเป็นวันนัดพิจารณาตามมาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง ดังกล่าวข้างต้น โจทก์จำเลยมาศาลและศาลได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้วกำหนดวันเวลานัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๑ เวลา ๙ นาฬิกา วันดังกล่าวจึงเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์มิใช่วันนัดพิจารณาตามมาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันสืบพยานแต่ศาลแรงงานกลางก็มิได้มีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาแต่อย่างใดอีก หากแต่มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่าโจทก์ไม่มีพยานนำเข้าสืบ และสั่งงดสืบพยานจำเลย แล้ววินิจฉัยว่าการที่โจทก์ฟ้องเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานมานำสืบตามข้อกล่าวอ้างจึงรับฟังไม่ได้ และพิพากษายกฟ้อง เช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่ากระบวนพิจารณาที่ศาลแรงงานกลางดำเนินคดีมาแล้วนั้นมิใช่เป็นการพิจารณาโดยขาดนัดอันจะ เป็นเหตุให้คู่ความร้องขอให้มีการพิจารณาใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๗ เพราะศาลแรงงานกลางมิได้สั่งแสดงว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและมีคำพิพากษาให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาทอีกทั้งคู่ความที่จะขอให้มีการพิจารณาใหม่จะต้องเป็นฝ่ายซึ่งศาลสั่งแสดงว่าขาดนัดพิจารณาเป็นประการสำคัญ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้พิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๗ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาใหม่ของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share