แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาเข้าหุ้นส่วนได้ทำที่บริษัทต.มีข้อความว่าบริษัทต.โจทก์และ ส. ตกลงเข้าหุ้นกันทำการค้าเกี่ยวกับที่ดินเพื่อหากำไรโดยได้มอบให้โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินหนึ่งแปลง และให้จำเลยที่ 1ซื้อที่ดินพิพาท แม้จำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อในสัญญานั้นโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญบริษัท ต. แต่ใต้ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1มีข้อความอยู่ภายในวงเล็บว่า บริษัทต.โดยจำเลยที่ 1 กำกับไว้ด้วย เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินมาแล้วในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บริษัท ต.ได้ให้ใส่ชื่อจ.กรรมการคนหนึ่งของบริษัทต.เป็นผู้ซื้อและเป็นเจ้าของในโฉนดร่วมกับโจทก์ด้วย ครั้นเมื่อขายที่ดินดังกล่าวแล้วโจทก์และบริษัท ต. ต่างได้รับส่วนแบ่งกำไรไป มิใช่จำเลยที่ 1 รับส่วนแบ่งกำไรไปเป็นส่วนตัวแสดงว่าบริษัท ต. ยอมรับเอาสัญญาและยอมผูกพันตามสัญญาดังกล่าวแล้วการที่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 ตามสัญญาแบ่งขายที่ดิน จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 2ในฐานะตัวแทนของหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับบริษัท ต. แม้ในสัญญาแบ่งขายที่ดินจะระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อแต่เพียงผู้เดียวก็เป็นการกระทำตามหน้าที่ที่จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายจากสัญญาเข้าหุ้นส่วน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการจดทะเบียนภาระจำยอมเป็นการฉ้อฉลโจทก์ และให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันไปเพิกถอน ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครภายใน 7 วัน หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิกถอนภาระจำยอมที่ดินโฉนดที่ 292 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินโฉนดที่ 18715แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความนำสืบไม่โต้เถียงกัน รับฟังได้ว่า บริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัดโดยจำเลยที่ 1 กระทำการแทนกับโจทก์และนายสุพัฒน์ สิริจันทกุลได้ทำสัญญาเข้าหุ้นกันค้าที่ดินเพื่อหากำไรโดยแบ่งหุ้นเป็น7 ส่วน มอบให้โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดที่ 18714 แขวงบางโพงพางเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร จากนางวิเชียร พลอยบุศย์ในราคา 1,753,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อที่ดินบางส่วนของโฉนดที่ 292 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 2 ในราคา 400,000 บาท คือที่พิพาทโดยบริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัด ลงหุ้น 3 ส่วน โจทก์ลงหุ้น3 ส่วน นายสุพัฒน์ ลงหุ้น 1 ส่วน โจทก์กับนายสุพัฒน์ได้ลงชื่อไว้ในสัญญาเข้าหุ้นในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วน แล้วจำเลยที่ 1 กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัด ได้ลงชื่อในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วนแทนบริษัทดังกล่าวแต่มิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทเมื่อทำสัญญาแล้ว นายสุพัฒน์ไม่มีเงินลงหุ้น จึงขายหุ้นให้โจทก์โจทก์จึงมี 4 หุ้น ปรากฏตามสัญญาเข้าหุ้นเอกสารหมาย จ.1คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเป็นข้อแรกว่า สัญญาเข้าหุ้นส่วนเอกสารหมาย จ.1 ผูกพันบริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัด หรือไม่เห็นว่า สัญญาเข้าหุ้นส่วนเอกสารหมาย จ.1 ได้ทำที่บริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัด ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2520 มีข้อความว่าบริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัด โจทก์ และนายสุพัฒน์ สิริจันทกุลตกลงเข้าหุ้นกันทำการค้าเกี่ยวกับที่ดินเพื่อหากำไรโดยได้มอบให้โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดที่ 18714 จากนางวิเชียร พลอยบุศย์ในราคา 1,743,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดิน(ที่พิพาท) จากนางสาวน้ำทอง คุณวิศาล ในราคา 400,000บาทถ้วน ฯลฯ แม้จำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อในสัญญาโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญบริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัดด้วย แต่ใต้ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 มีข้อความว่า (บริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัดโดยนายประเวศน์ มานะศิริสุทธิ์) กำกับไว้ด้วย และบริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัด ได้ยอมรับเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวแล้ว ดังจะเห็นได้จากเมื่อโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดที่18714 จากนางวิเชียรตามสัญญาเข้าหุ้นส่วนในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัด ได้ให้ใส่ชื่อนายจีรวัฒน์ ขจรชัยกุล กรรมการคนหนึ่งของบริษัทไต้ล้งค้าเหล็กจำกัด เป็นผู้ซื้อและเป็นเจ้าของในโฉนดร่วมกับโจทก์ด้วยแสดงว่าบริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัด ยอมรับเอาสัญญาดังกล่าวยอมผูกพันตามสัญญาดังกล่าวแล้ว ทั้งโจทก์ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า เมื่อขายที่ดินโฉนดที่ 18714 ให้แก่นายวิวัฒน์ จารุวัฒนวงศ์ ได้กำไรมา 700,000 บาท โจทก์ได้ส่วนแบ่งกำไรไป 400,000 บาท บริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัดได้ส่วนแบ่งกำไรไป 300,000 บาท มิใช่จำเลยที่ 1 รับส่วนแบ่งกำไรไปเป็นส่วนตัว เมื่อฟังว่าบริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัดยอมผูกพันตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 แล้ว ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 ตามสัญญาแบ่งขายที่ดินเอกสารหมาย ล.2 หรือ ล.9 ซึ่งมีรูปที่ดินแบ่งขายตามเอกสารหมาย ล.3 หรือ ล.10 ในราคา 400,000 บาท ตามที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาเข้าหุ้นส่วนเอกสารหมาย จ.1 ในสัญญาดังกล่าวระบุว่าจำเลยที่ 2 ผู้ขาย ได้รับเงินมัดจำแล้ว100,000 บาท จำเลยที่ 2 สัญญาว่าจะไปทำการยื่นคำขอแบ่งแยกต่อเจ้าพนักงานที่ดินต่อไป เมื่อได้รับโฉนดแล้วจะแจ้งให้จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อทราบเพื่อจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชำระราคาที่เหลือแก่จำเลยที่ 2 ผู้ขายทันทีสัญญาเอกสารหมาย ล.2 หรือ ล.9 นี้ จำเลยที่ 3 ลงชื่อเป็นพยานด้วยเงินมัดจำจำนวน 100,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้รับแล้วด้วยเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายและจำเลยที่ 1 ลงชื่อสลักหลังตามเอกสารหมายจ.4 หรือ จ.8 โดยนำเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารไทยทนุจำกัด เอกสารหมาย จ.32 ทั้งได้ความว่าการไปติดต่อขอซื้อที่จากจำเลยที่ 2 ได้ไปกันหลายคนมีโจทก์และนายแม้น เพชรวิฑูรร่วมไปด้วย จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับบริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัด แม้ในสัญญาแบ่งขายเอกสารหมาย ล.2หรือ ล.9 จะระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อแต่เพียงผู้เดียวก็เป็นการกระทำตามหน้าที่ที่จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากสัญญาเข้าหุ้นส่วน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2จดทะเบียนให้ที่พิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดที่ 18714 และโฉนดที่ 18715 เป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบหรือไม่ เห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการบริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัด ได้ทำสัญญาเข้าหุ้นส่วนค้าที่ดินกันเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2520 ตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดที่ 18714 จากนางวิเชียร พลอยบุศย์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2520 ตามเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งในข้อ 9ระบุว่า ถ้าซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ โจทก์กับนางวิเชียรเป็นอันเลิกสัญญาเอกสารหมาย ล.4 กันโดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 3 ลงชื่อเป็นพยานด้วย ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2521ก็ได้ซื้อที่ดินโฉนดที่ 18714 และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยได้ใส่ชื่อนายจีรวัฒน์ ขจรชัยกุล กรรมการคนหนึ่งของบริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัด เป็นเจ้าของร่วมกับโจทก์ในโฉนดด้วย ตามเอกสารหมาย จ.ล.1 แผ่นที่ 2 อันดับที่ 1 ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2521 โจทก์และนายจีรวัฒน์ได้ขายที่ดินนี้ให้แก่นายวิวัฒน์ จารุวัฒนวงศ์ ตามเอกสารหมาย จ.ล.1แผ่นที่ 2 อันดับที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2520 ตามเอกสารหมายล.2 หรือ ล.9 มีรูปที่ดินตามเอกสารหมาย ล.3 หรือ ล.10 ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2521 จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.6 ซึ่งมีข้อความว่า ตามที่นายวิวัฒน์ จารุวัฒนวงศ์ตกลงซื้อที่ดินโฉนดที่ 18714 และที่ดินที่จำเลยที่ 1 จะซื้อจากจำเลยที่ 2 (ที่ดินพิพาท) แต่ขณะนี้จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 2 ถ้าจำเลยที่ 1 ได้รับโอนมาเมื่อใด จำเลยที่ 1จะจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่นายวิวัฒน์ จารุวัฒนวงศ์ทันทีโดยไม่คิดค่าตอบแทน โดยมีนายจีรวัฒน์ ขจรชัยกุล ลงชื่อเป็นพยานในบันทึกนี้ด้วยแล้วในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 23 พฤษภาคม 2521โจทก์และนายจีรวัฒน์ก็จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่18714 ให้แก่นายวิวัฒน์ตามเอกสารหมาย จ.ล.1 แผ่นที่ 2อันดับที่ 2 ดังกล่าวแล้ว เอกสารดังกล่าวจึงเจือสมข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ที่ว่า การตกลงเข้าหุ้นส่วนกับโจทก์เพื่อค้าที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 ได้ ตกลงซื้อทั้งสองแปลง คือแปลงโฉนดที่ 18714 และแปลงพิพาทซึ่งบังหน้าที่ดินโฉนดที่ 18714 ที่จะออกมายังถนนสาธุประดิษฐ์ซึ่งขณะนั้นทางราชการกำลังก่อสร้างถนนสาธุประดิษฐ์ และการขายที่ดินให้แก่นายวิวัฒน์ก็เป็นการขายทั้งสองแปลงคือ ขายทั้งแปลงโฉนดที่ 18714 และแปลงพิพาทด้วยซึ่งมีเหตุผลอยู่มาก หากขายแต่เพียงแปลงโฉนดที่ 18714 แปลงเดียวนายวิวัฒน์ก็คงไม่ซื้อเพราะไม่สามารถออกสู่ถนนได้เพราะมีที่พิพาทบังหน้าอยู่ ประกอบกับได้มีบันทึกเอกสารหมาย ล.6ที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นไว้ให้นายวิวัฒน์ว่านายวิวัฒน์ตกลงจะซื้อที่ดินทั้งสองแปลงคือ แปลงโฉนดที่ 18714 และแปลงพิพาท หากแต่แปลงพิพาทยังโอนให้นายวิวัฒน์ไม่ได้ เมื่อได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 2 แล้ว จะโอนกรรมสิทธิ์ให้นายวิวัฒน์ทันทีโดยไม่คิดค่าตอบแทน โดยมีนายจีรวัฒน์ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกับโจทก์ในโฉนดที่ 18714 ได้ลงชื่อเป็นพยานรับรู้ในบันทึกขาย2 แปลง เอกสารหมาย ล.6 ด้วย แล้วในวันรุ่งขึ้นโจทก์กับนายจีรวัฒน์ก็ได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 18714 ให้นายวิวัฒน์ไปก่อน ทั้งปรากฏว่าเมื่อขายแล้วได้กำไรถึง 700,000บาท โจทก์ได้รับส่วนแบ่ง 400,000 บาท บริษัทไต้ล้งค้าเหล็กจำกัด ได้ส่วนแบ่ง 300,000 บาท ตามส่วนที่ลงหุ้น พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าโจทก์ทราบและตกลงขายที่ดินของห้างหุ้นส่วนทั้งสองแปลง มิฉะนั้นโจทก์ก็คงไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 18714 ให้นายวิวัฒน์ในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกเอกสารหมาย ล.6 ที่โจทก์อ้างว่าได้ขายให้นายวิวัฒน์เพียงแปลงโฉนดที่ 18714 นั้น จึงฟังไม่ขึ้นจึงฟังได้ว่าห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับบริษัทไต้ล้งค้าเหล็กจำกัด ได้ขายที่ดินให้แก่นายวิวัฒน์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2521เป็นการขายทั้งสองแปลง หากแต่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้นายวิวัฒน์ได้แปลงเดียวคือ แปลงโฉนดที่ 18714 ส่วนแปลงพิพาทยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 2 ยังอยู่ในระหว่างจำเลยที่ 2 ขอแบ่งแยกจึงได้ทำบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย ล.6 และเมื่อได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาแล้วจะโอนกรรมสิทธิ์ให้นายวิวัฒน์ทันทีโดยไม่คิดค่าตอบแทน เพราะนายวิวัฒน์ได้ชำระราคาที่ดินให้ครบถ้วนแล้วทั้งสองแปลง ดังนั้นเมื่อโจทก์กับบริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัดได้ทำการคืนทุนและแบ่งกำไรกันแล้ว โดยโจทก์ได้รับกำไร 400,000บาท ใน 700,000 บาท บริษัทไต้ล้งค้าเหล็กได้รับกำไร 300,000บาท ใน 700,000 บาท ห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับบริษัทไต้ล้งค้าเหล็ก จำกัด เพื่อทำการค้าที่ดิน 2 แปลงนี้จึงเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันที่ขายและแบ่งทุนและกำไรกัน คือวันที่ 23 พฤษภาคม 2521 ดังที่จำเลยต่อสู้เพราะปรากฏว่าหลังจากนั้นโจทก์ก็นำเงินไปลงทุนส่วนตัวในกิจการค้าที่ดินที่อื่นดังนั้นแม้ต่อมาจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเอกสารหมายล.11 ให้ที่พิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดที่ 18714 และ 18715 ด้วย ก็ไม่ทำให้โจทก์หรือห้างหุ้นส่วนเสียเปรียบ เพราะโจทก์มิได้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทแล้วสัญญาเอกสารหมาย ล.11 เพิ่งทำในวันที่ 30 เมษายน 2522หลังจากที่ห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์กับบริษัทไต้ล้งค้าเหล็กจำกัด ได้เลิกกันไปแล้วถึง 11 เดือนเศษ เพื่อให้ที่ดินโฉนดที่18714 ได้ออกสู่ถนนสาธุประดิษฐ์ได้ ทั้งในการจดทะเบียนภาระจำยอมจริง ๆ นั้น จำเลยที่ 2 ได้เป็นคู่สัญญากับนายวิวัฒน์โดยให้ที่พิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดที่18714 และจำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญากับบริษัทไต้ล้งค้าเหล็กจำกัด ผู้ซื้อที่ดินโฉนดที่ 18715 จากนายพินัยเจ้าของเดิมโดยให้ที่พิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดที่18715 โดยได้จดทะเบียนภาระจำยอมพร้อมกันคือในวันที่ 1 พฤษภาคม2522 ทั้งปรากฏว่าปัจจุบันนี้ที่พิพาทเป็นทางเดินสัญจรไปมาของคนทั่วไปแล้ว เมื่อโจทก์ไม่เสียเปรียบไม่เสียหายจึงไม่เป็นการฉ้อฉลดังโจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนเพิกถอนภาระจำยอมรายนี้ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิกถอนภาระจำยอมเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินโฉนดที่ 18715 นั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาจำเลยทั้งสามฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น