แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การลดค่ารายปีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 เป็นวิธีการที่กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณภาษีกรณีโรงเรือนถูกทำลาย และยังมิได้ทำขึ้นใหม่เท่านั้น จะตีความเลยไปว่ากฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ถึงกำหนดการยื่นรายการเพื่อชำระภาษีด้วยไม่ได้ เพราะตามบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นกรณีทรัพย์ถูกทำลายแล้ว ซ่อมเสร็จในทันใดก็จะลดค่ารายปีลง ดังนั้นการยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในปีใดก็เพื่อเสียภาษีในปีนั้น เมื่อปรากฏว่าโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ปิดไว้และงดใช้ประโยชน์ตลอดปีภาษีและโรงเรือนที่โจทก์รื้อถอนไปแล้วก่อนปีภาษี โจทก์ย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินดังที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 9(5ป บัญญัติไว้การประเมินให้โจทก์เสียภาษีสำหรับโรงเรือนดังกล่าวจึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ
โรงเรือนที่ใช้เป็นโรงงานในการประกอบอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการกำหนดค่ารายปีจึงไม่อาจนำดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจซึ่งเป็นค่าเช่าบ้านที่อยู่อาศัยมาเทียบเคียงได้เพราะเป็นโรงเรือนคนละประเภท เมื่อไม่ได้ความว่า จำเลยกำหนดค่ารายปีโดยไม่ได้คำนึงถึงค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีซึ่งต้องเสียในปี ต่อมา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 แล้ว การกำหนดค่ารายปีตลอดจนการคำนวณภาษีของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะชี้ขาดการประเมิน เมื่อผู้รับประเมินยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ การที่จำเลยที่ 2 ชี้ขาดว่าการประเมินชอบแล้วให้โจทก์ชำระภาษีตามที่มีการประเมินจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเมื่อ ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 แกล้งชี้ขาดให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ค่าภาษีที่โจทก์ชำระก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับไดว้ จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 รับผิดคืนภาษีที่จำเลยที่ 1 รับชำระไว้ต่อโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ และคำชี้ขาดขอให้พิจารณาตามประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ ๒ ที่ให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินภาษีโรงเรือนประจำปี ๒๕๒๖ และ ๒๕๒๗ จำนวน ๑,๑๘๐,๕๗๐.๑๙ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ใช้โรงเรือนตามฟ้องเป็นสถานที่ประกอบอุตสาหกรรม และประกอบกิจการค้าตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ จึงมิใช่เป็นการอยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษาอันจะได้รบการพิจารณายกเว้นภาษีโรงเรือนตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.๒๔๗๕ ที่แก้ไขแล้วการกำหนดค่ารายปีพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการตามความเหมาะสมและสมควรแล้ว การประเมินของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลดหย่อนค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ประจำปีภาษี ๒๕๒๖ สำหรับโรงเรือนลำดับที่ ๒ ๑๕ ๑๖ ลำดับที่ ๓ ๒๘ ๓๑ ๔๖ ๔๗ ๔๙ ๕๑ ๕๕ ลำดับที่ ๗ ๓๐ ๓๒ ๔๒ ๔๘ ลำดับที่ ๑๓ ๑๘ ๔๕ ลำดับที่ ๗๕ ลำดับที่ ๖๒ สำหรับภาษีโรงเรือนประจำปีภาษี ๒๕๒๗ ลำดับที่ ๕๕ ๖๒ รวมเป็นเงิน ๒๒๗,๑๑๘.๗๔ บาท และให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ ๒ ที่เกี่ยวกับโรงเรือนที่กล่าวแล้วเสีย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินที่กล่าวข้างต้นให้แก่โจทก์ภายใน ๓ เดือน นับแต่วันพิพากษาเกินกำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่เกินกำหนด ๓ เดือน จนกว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จฟ้องโจทก์นอกจากที่กล่าวแล้วให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ที่ไม่ลดหย่อนค่ารายปีในการคำนวณภาษีโรงเรือนลำดับที่ ๗ ๓๐ ๓๒ ๔๒ และ ๔๘ และเพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ที่คิดค่ารายปีสูงไปในการคิดคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี ๒๕๒๗ ลำดับที่ ๖๒ ลงรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๓๓,๗๓๕.๘๐ บาท และเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ ๒ เฉพาะส่วนที่ไม่ลดหย่อนภาษี (ที่ถูกเป็นค่ารายปี) และคิดค่ารายปีสูงไปของภาษีโรงเรือนและที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวนที่กล่าวแล้วแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี ๒๕๒๖ สำหรับโรงเรือนลำดับที่ ๑๓ ๑๘ ๔๕ ๖๐ ๖๒ และ ๗๕ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยคืนภาษีสำหรับโรงเรือนที่โจทก์ได้ปิดเลิกใช้ประโยชน์ในปี ๒๕๒๖ เป็นเงิน ๘๑,๓๖๘ บาท ในปี ๒๕๒๗ เป็นเงิน ๒๒๔,๘๔๖.๗๐ บาท กับโรงเรือนที่โจทก์รื้อถอนไปแล้วในปี ๒๕๒๖ แต่จำเลยกลับประเมินให้โจทก์เสียภาษีในปี ๒๕๒๗ อีกเป็นเงิน ๗,๙๖๑.๕๐ บาท รวมเป็นเงิน ๓๑๔,๑๗๖.๒๐ บาทนั้น มีปัญหาว่าโจทก์จะต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนที่โจทก์ปิดไว้ และรื้อถอนไปในระหว่างปีในปีถัดไปหรือไม่พิเคราะห์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ บัญญัติให้ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้ง และตามมาตรา ๑๑ หากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างถูกรื้อถอนหรือทำลาย ก็ให้ลดหย่อนค่ารายปีของทรัพย์สินนั้นลงตามส่วนที่ถูกทำลายตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ทำขึ้น เห็นได้ว่าการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีตามกฎหมายนั้น เป็นการยื่นรายการเพื่อเสียภาษีในปีที่ผ่านมา หาใช่ในปีที่ยื่นไม่นั้น เห็นว่า การลดค่ารายปีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑ เป็นวิธีการที่กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณภาษีกรณีโรงเรือนถูกทำลาย และยังมิได้ทำขึ้นใหม่เท่านั้นจะตีความเลยไปว่า กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ถึงกำหนดการยื่นรายการเพื่อชำระภาษีด้วยไม่ได้ เพราะตามบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นกรณีทรัพย์ถูกทำลายแล้วซ่อมเสร็จในทันใดก็จะลดค่ารายปีลงในการยื่นรายการ เพื่อเสียภาษีในปีต่อมาทำนองที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยไม่ได้ ดังนั้นการยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในปีใดก็เพื่อเสียภาษีในปีนั้นดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นแบบอย่างแล้ว ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๒๖/๒๔๙๑ ระหว่าง นายอโนทัย กัลยางกูร กับพวก โจทก์ เทศบาลเมืองพนัสนิคม กับพวกจำเลย เมื่อในปี ๒๕๒๖ และ ๒๕๒๗ ที่โจทก์ยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษีปรากฏว่ามีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ปิดไว้และงดใช้ประโยชน์ตลอดปีภาษีดังกล่าวมาแล้วโจทก์ย่อมได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ดังที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๙(๕) บัญญัติไว้ และเมื่อไม่มีเรือนพักคนครัว โรงรพบ้านพักรับรองและสถานพยาบาล โรงเรือนอันดับที่ ๕๓ ๕๔ และ ๖๕ เพราะโจทก์รื้อถอนเสียในปี ๒๕๒๖ ดังที่ได้กล่าวแล้วจึงไม่มีโรงเรือนดังกล่าวให้จำเลยกำหนดค่ารายปีและประเมินให้โจทก์เสียภาษีในปี ๒๕๒๗ ดังนั้นการประเมินให้โจทก์เสียภาษีสำหรับโรงเรือนที่โจทก์ปิดไว้ตลอดปี และโรงเรือนที่โจทก์รื้อถอนไปแล้วก่อนปีภาษี จึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าภาษีสำหรับโรงเรือนเหล่านี้รวม ๓๑๔,๑๗๖.๒๐ บาท ที่จำเลยรับไว้ให้โจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ในปัญหานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ที่โจทก์ฎีกาให้บังคับจำเลยคืนค่าภาษีสำหรับโรงเรือนลำดับที่ ๗๕ ซึ่งเป็นอาคาร ๕ ชั้น เฉพาะชั้นที่ ๕ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคืนให้โจทก์ ๒,๗๗๕ บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ในชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๔ เป็นสำนักงานของโจทก์ ส่วนชั้นที่ ๕ โจทก์ให้บริษัทในเครือและนิติบุคคลอื่นใช้เป็นสำนักงาน ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้เสียภาษีโรงเรือนสำหรับอาคารชั้นที่ ๑-๔ โจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหานี้ แสดงว่าโจทก์พอใจค่ารายปีที่จำเลยกำหนด ข้อเท็จจริงตามฟ้อง ปรากฏว่าค่ารายปีของชั้นที่ ๕ ได้มาจากการถัวเฉลี่ยค่ารายปีของตึกทั้ง ๕ ชั้น ค่ารายปีของชั้นที่ ๕ จึงเท่ากับค่ารายปีของชั้นอื่น ๆ ที่โจทก์พอใจแล้วจึงไม่มีเหตุที่จะลดหย่อนค่ารายปีชั้นที่ ๕ ลงอีก
ที่โจทก์ฎีกาว่า การำหนดค่ารายปีโรงเรือนลำดับที่ ๑๓ หม้อบดปูน ๘ ปี ที่ ๑๘ สายพานลำเลียงปูนเม็ด และที่ ๔๕ หม้อบดปูน ๔ ๕ และ ๗ ของปีภาษี ๒๕๒๖ สูงเกินไปนั้น เห็นว่า โรงเรือนอันดับที่ ๑๓ ที่ ๑๘ และที่ ๔๕ ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.๒๑ เป็นโรงเรือนที่ใช้เป็นโรงงานในการประกอบอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ จึงไม่อาจนำดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจซึ่งเป็นค่าเช่าบ้านที่อยู่อาศัยมาเทียบเคียงในการกำหนดค่ารายปีดังที่โจทก์นำสืบได้ เพราะเป็นโรงเรือนคนละประเภทเมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยกำหนดค่ารายปีโดยไม่ได้คำนึงถึงค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้ว เป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ แล้ว การกำหนดค่ารายปีตลอดจนการคำนวณค่าภาษีของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในปัญหานี้ชอบแล้ว
ฎีกาโจทก์ข้อสุดท้ายเกี่ยวกับการกำหนดค่ารายปีโรงเรือนลำดับที่ ๖๒ ห้องทดลองในโรงงานปี ๒๕๒๖ ว่าชอบหรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า จำเลยกำหนดค่ารายปีสำหรับโรงเรือนรายนี้ปี ๒๕๒๖ สูงกว่าปี ๒๕๒๒ ในอัตราร้อยละ ๔๐๓.๕๒ ซึ่งหากกำหนดค่ารายปีสูงขึ้นในอัตราร้อยละ ๘๑ ดังที่โจทก์นำสืบ จำเลยจะต้องคืนภาษีสำหรับโรงเรือนรายการนี้ให้โจทก์ ๓,๘๗๖ บาท ปัญหาว่าการกำหนดค่ารายปีของจำเลยข้างต้นชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.๓๑ ห้องทดลองในโรงงานของโจทก์มีสภาพเช่นเดียวกับโรงเรือนที่อยู่อาศัย คดีได้ความจากนายประดิษฐ เจียมจันทร์ พยานจำเลยว่าโจทก์จำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับภาษีโรงเรือนตั้งแต่ปีภาษี ๒๕๒๓ ตลอดมา จึงไม่แน่ว่าค่ารายปี ปี ๒๕๒๓ ถึง ๒๕๒๕ จะถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นการกำหนดค่ารายปี ปี ๒๕๒๖ จึงจำเป็นต้องอาศัยค่ารายปี ปี ๒๕๒๒ เป็นฐาน เมื่อจำเลยกำหนดค่ารายปีในอัตราที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๔๐๓.๕๒ ดังกล่าวข้างต้น ในขณะที่ดัชนีค่าครองชีพสูงขึ้นเพียงร้อยละ ๘๐ เศษค่ารายปีที่จำเลยกำหนดจึงสูงเกินสมควร การประเมินภาษีของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องคืนภาษีส่วนที่เรียกเกิน ๓,๘๗๖ บาท ให้โจทก์
มีปัญหาว่า จำเลยที่ ๒ จะต้องร่วมรับผิดในการคืนค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้โจทก์ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัย ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะชี้ขาดการประเมิน เมื่อผู้รับประเมินยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ว่าการประเมินนั้นชอบหรือไม่ การที่จำเลยที่ ๒ ชี้ขาดว่าการประเมินชอบแล้ว ให้โจทก์ชำระภาษีตามที่มีการประเมินจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อคดีไม่ได้ความว่าจำเลยที่ ๒ แกล้งชี้ขาดให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ ๑ ค่าภาษีที่โจทก์ชำระก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับไว้ จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดคืนค่าภาษีที่จำเลยที่ ๑ รับชำระไว้ต่อโจทก์ได้
พิพากษาแก้เป็นว่าให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนที่ปิดไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตลอดจนโรงเรือนที่รื้อถอนในปีภาษี ๒๕๒๖,๒๕๒๗ กับโรงเรือนที่เป็นห้องทดลองในโรงงานสำหรับปีภาษี ๒๕๒๖ ให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนเกี่ยวกับโรงเรือนที่กล่าว ๓๑๘,๐๕๒.๒๐ บาท ให้โจทก์ฟ้องโจทก์ที่บังคับให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ คืนเงินค่าภาษีให้โจทก์ให้ยกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์