แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์นำน้ำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิตเป็นสินค้าน้ำอัดลม ระหว่างต้นปี 2507 ถึงเดือนกรกฎาคม 2509 โจทก์เสียภาษีที่ที่ว่าการอำเภอโดยโจทก์ยื่นแบบภ.ค.4 แสดงยอดราคาน้ำเชื้อที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วคำนวณออกมาเป็นภาษีการค้าบวกกับภาษีบำรุงเทศบาลต่ออำเภอ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป พร้อมทั้งชำระเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลและตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2509กรมศุลกากรเป็นผู้เก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแทนกรมสรรพากรจำเลยโดยเมื่อโจทก์นำน้ำเชื้อเข้ามาในราชอาณาจักรก็ต้องยื่นแบบใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าพร้อมกับแนบเอกสารแสดงรายการสินค้าคือใบอินวอยซ์ เมื่อกรมศุลกากรตรวจถูกต้องแล้วก็จะเรียกเก็บภาษีจากโจทก์โดยแยกเป็นอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล ดังนี้ การกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งทางอำเภอและทางกรมศุลกากรดังกล่าวแม้จะเรียกเก็บภาษีการค้าแทนกรมสรรพากรจำเลย แต่ก็หาใช่การประเมินภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ไม่ ซึ่งไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 30 ที่จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนฟ้อง (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1734/2519)
โจทก์ประกอบอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมต้องใช้น้ำเชื้อเป็นวัตถุดิบในการผลิต โจทก์ไม่ได้สั่งน้ำเชื้อเหล่านี้มาเพื่อขายการที่โจทก์นำน้ำเชื้อดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรผลิตเป็นสินค้าน้ำอัดลมเพื่อขายเช่นนี้จึงไม่ใช่เป็นการขายสินค้าน้ำเชื้อโจทก์ไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าตามความหมายในประมวลรัษฎากร มาตรา 77 ไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราภาษีการค้าและรายการที่ประกอบการค้า ตามมาตรา 78 วรรคแรก และไม่ต้องเสียภาษีการค้าในกรณีให้ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเป็นผู้ประกอบการค้าตามมาตรา 78 วรรคสอง และเมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าน้ำเชื้อก็จะถือว่าการนำน้ำเชื้อเข้ามาสำหรับผลิตเป็นเครื่องดื่มน้ำอัดลม เป็นการขายสินค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79 ทวิ(3) ไม่ได้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ชำระไปแล้วคืนได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1606/2512 และ 2807/2515)
เงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่กรมสรรพากรจำเลยรับชำระจากโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์ชำระไปตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยวางไว้และจำเลยก็ให้การและโต้แย้งตลอดมาว่า โจทก์ต้องเสียภาษีการค้าดังกล่าวตามประมวลรัษฎากรซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จำเลยได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้การฟ้องเรียกภาษีคืนในคดีนี้ จึงมิใช่การฟ้องเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้อันจะอยู่ในบังคับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 (วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2520)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อน้ำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตเครื่องดื่ม ได้นำส่งภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลสำหรับน้ำเชื้อให้แก่จำเลยแล้ว แต่โจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีดังกล่าวจึงยื่นคำร้องขอคืนภาษีจำเลยไม่ยอมคืนให้ ขอให้จำเลยคืนเงินภาษี 4,743,583 บาท 19 สตางค์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ชำระภาษีไปถูกต้องแล้วไม่มีสิทธิเรียกคืน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินภาษีให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามฟ้องโจทก์แสดงว่าโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามขั้นตอนที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาล พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธินำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า วิธีการที่โจทก์เสียภาษีที่ที่ว่าการอำเภอบางรักในระยะแรกตั้งแต่ต้นปี 2507 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2509 นั้น โจทก์ต้องยื่นแบบ ภ.ค.4 แสดงยอดราคาน้ำเชื้อที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วคำนวณออกมาเป็นภาษีการค้าบวกกับภาษีบำรุงเทศบาลอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ของภาษีการค้าต่ออำเภอภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป พร้อมทั้งชำระเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลด้วย และระยะหลังตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2509 เป็นต้นมากรมศุลกากรเป็นผู้เก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแทนจำเลย โดยเมื่อโจทก์นำน้ำเชื้อเข้ามาในราชอาณาจักรก็ต้องยื่นแบบใบขนสินค้าขาเข้าและแนบมาแสดงรายการการค้าพร้อมกับแนบเอกสารแสดงรายการสินค้าคือใบอินวอยซ์เมื่อกรมศุลกากรตรวจถูกต้องแล้วก็จะเรียกเก็บภาษีจากโจทก์โดยแยกเป็นอากรขาเข้าภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งทางอำเภอและกรมศุลกากรดังกล่าวแล้ว แม้จะเก็บภาษีการค้าแทนจำเลย แต่ก็หาใช่เป็นการประเมินภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ไม่ โจทก์ไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลรัษฎากรมาตรา 30 ที่จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนฟ้องตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 1734/2519 ระหว่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด โจทก์ กรมศุลกากร กับพวก จำเลย โจทก์จึงมีสิทธินำคดีนี้ขึ้นสู่ศาล ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาที่ว่าน้ำเชื้อรายพิพาทจะต้องเสียภาษีการค้าหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าทางพิจารณาได้ความว่า โจทก์ประกอบอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมต้องใช้น้ำเชื้อเป็นวัตถุในการผลิต น้ำเชื้อเหล่านี้โจทก์ไม่เคยนำไปขาย ซึ่งพยานจำเลยก็รับรองในข้อนี้ จึงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้สั่งน้ำเชื้อเหล่านี้มาเพื่อขาย การที่โจทก์นำน้ำเชื้อดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิตเป็นสินค้าน้ำอัดลมของโจทก์เพื่อขายเช่นนี้ จึงไม่ใช่เป็นการขายสินค้าน้ำเชื้อ โจทก์ไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าตามความหมายในประมวลรัษฎากรมาตรา 77 ไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราภาษีการค้าและรายการที่ประกอบการค้าตามมาตรา 78 วรรคแรก และไม่ต้องเสียภาษีการค้าในกรณีให้ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเป็นผู้ประกอบการค้าตามมาตรา 78 วรรคสอง ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 1606/2512 ระหว่างบริษัทกระเบื้องกระดาษไทยจำกัด โจทก์ กรมสรรพากรกับพวก จำเลย และกรณีนี้ เมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าน้ำเชื้อ ก็จะถือว่าการนำน้ำเชื้อเข้ามาสำหรับผลิตเป็นเครื่องดื่มน้ำอัดลม เป็นการขายสินค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79 ทวิ (3) ไม่ได้ด้วย ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 2807/2515 ระหว่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด โจทก์ กรมศุลกากรกับพวก จำเลย เหตุนี้โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่โจทก์ชำระให้จำเลยไปแล้วคืนได้
สำหรับปัญหาที่ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 หรือไม่นั้น เห็นว่าเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยรับชำระจากโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์ชำระไปตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยวางไว้ และจำเลยก็ให้การและโต้แย้งตลอดมาว่าโจทก์ต้องเสียภาษีการค้าดังกล่าวตามประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จำเลยได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าการฟ้องเรียกภาษีคืนในคดีนี้มิใช่การฟ้องเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้อันอยู่ในบังคับจะใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องของโจทก์นั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ เป็นให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น