แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกเพียงแต่มีเจตนาจะมาปล้นทรัพย์เท่านั้นแม้จำเลยที่ 2 จะทราบว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนติดตัวมาด้วยก็ยังไม่เป็นการแน่นอนว่าจำเลยที่ 1 จะต้องใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเสมอไป เมื่อจำเลยที่ 2 ยืนอยู่เฉย ๆ มิได้แสดงอาการใดให้ปรากฏว่าจะให้จำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหายทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายมิได้ขัดขืน จึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เองตามลำพังและโดยฉับพลันในขณะนั้นเอง แม้หลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 วิ่งหนีไปกับจำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ร่วมกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 พยายามฆ่าผู้เสียหาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี,371, 288, 289, 83, 91 ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาสายสร้อยคอทองคำจำนวนครึ่งเส้นราคา 1,000 บาท พระเลี่ยมทอง 1 องค์ ราคา 300 บาท และลูกแก้วหลวงพ่อฤษีลิงดำจำนวน 1 ลูกให้แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี, 288, 289, 80 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำผิดของจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี และมาตรา 288, 289, 80เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 289(7) ประกอบด้วยมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุกคนละตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ แต่ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ไม่ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 จำคุก 2 ปี มาตรา 8 ทวิ72 ทวิ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8, 72 ทวิ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 2 ปีรวมจำคุก 4 ปี แต่เนื่องจากศาลลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตแล้วจึงไม่นำโทษจำคุก 4 ปีมาบวกรวมกับโทษจำคุกตลอดชีวิตอีก อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางให้ริบ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สร้อยคอทองคำครึ่งเส้น ราคา 1,000 บาท พระเลี่ยมทอง1 องค์ ราคา 300 บาท และลูกแก้วหลวงพ่อฤษีลิงดำ 1 ลูก แก่ผู้เสียหายยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(7), 80 และมาตรา 340 วรรคสาม, 340 ตรีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก, 72 วรรคแรก,72 ทวิ วรรคสอง จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสาม 340 ตรี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289, 80 อีกกระทงหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีเจตนาที่จะมาฆ่าผู้อื่นตั้งแต่ต้น คงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกเพียงแต่มีเจตนาจะมาปล้นทรัพย์เท่านั้นแม้จำเลยที่ 2 จะทราบว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนติดตัวมาด้วยก็ยังไม่เป็นการแน่นอนว่าจำเลยที่ 1 จะต้องใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเสมอไป ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายมิได้ขัดขืนและจำเลยที่ 2 ยืนอยู่เฉย ๆ มิได้แสดงกิริยาอาการใดให้ปรากฏว่าจะให้จำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหายทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายมิได้ขัดขืนจึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เองตามลำพังและโดยฉับพลันในขณะนั้นเอง แม้หลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 วิ่งหนีไปกับจำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ย่อมจะต้องหนีไปด้วยกัน กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหาย
พิพากษายืน.