แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
น. มีที่ดินสองแปลงคือ ที่พิพาทและที่ดินโฉนดที่ 2785 น. ได้ขายที่พิพาทให้กับบิดาของภริยาจำเลย แต่ด้วยความเข้าใจผิดได้นำโฉนดที่ 2785 มาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ บิดาของภริยาจำเลยครอบครองที่พิพาทมากว่า 30 ปีแล้วถึงแก่กรรม ภริยาจำเลยรับมรดกที่พิพาทแต่จดทะเบียนในโฉนดที่ 2785 แล้วจำเลยกับภริยาครอบครองที่พิพาทตลอดมา ส่วนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2785 น. ขายให้กับผู้มีชื่อโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในโฉนดสำหรับที่พิพาท แล้วโอนกันต่อมาจนตกเป็นของ จ. จ. จดทะเบียนโอนขายให้โจทก์ เมื่อได้ความว่าโจทก์มีเจตนาจะซื้อที่ดินแปลงที่ จ. ครอบครองเป็นเจ้าของอยู่เป็นสำคัญยิ่งกว่าที่ดินแปลงตามหน้าโฉนดที่ถูกต้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิ์อ้างเอาที่พิพาท การมีชื่อ จ. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในโฉนดสำหรับที่พิพาท ไม่ทำให้ จ. มีสิทธิ์ขายที่ดินตามหน้าโฉนดนี้เพราะที่ดินไม่ใช่ของ จ. เมื่อโจทก์รู้อยู่แล้วเช่นนี้ ยังรับซื้อและรับโอนทางทะเบียนมา ถือได้ว่าเป็นการได้สิทธิ์และได้จดทะเบียนสิทธิ์โดยไม่สุจริต ไม่มีสิทธิ์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๗๓๕ โดยซื้อจากนายแจ่ม จำเลยบุกรุกเข้าไปไถนาในที่ดินดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๗๓๕ เป็นของภริยาจำเลย โดยได้รับโอนมาจากบิดาซึ่งได้ซื้อมาจากนายน้อยและครอบครองเป็นเจ้าของตลอดมากว่า ๓๐ ปี จำเลยเพิ่งทราบว่านายน้อยโอนโฉนดผิดให้กับบิดาจำเลย คือ นำโฉนดเลขที่ ๒๗๘๕ ซึ่งอยู่ในตำบลเดียวกันและมีเนื้อที่เท่ากัน มาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ส่วนโฉนดเลขที่ ๒๗๓๕ นายน้อยขายให้ผู้อื่นไปและโอนกรรมสิทธิ์กันต่อมาจนตกเป็นของนายแจ่มแล้วนายแจ่มขายให้โจทก์ โดยโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์ประสงค์จะซื้อที่ดินแปลงที่นายแจ่มครอบครองและขณะจดทะเบียนสิทธิ์ โจทก์ก็ทราบว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวิจัยว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยทางครอบครอง แต่โจทก์ได้รับโอนที่พิพาทมาทางทะเบียนโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริต จึงมีสิทธิ์ดีกว่าจำเลย พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโจทก์ ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ภริยาจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยทางครอบครอง คดียังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ซื้อที่พิพาทมาโดยสุจริต นายแจ่มไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ไม่มีอำนาจนำไปขายให้โจทก์ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่านายน้อยมีที่ดินสองแปลงอยู่ตำบลเดียวกันและมีเนื้อที่เท่ากัน คือโฉนดเลขที่ ๒๗๓๕ และ ๒๗๘๕ นายน้อยขายที่ดินโฉนดที่ ๒๗๓๕ ให้บิดาของภริยาจำเลย แต่ได้นำโฉนดเลขที่ ๒๗๘๕ มาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ บิดาของภริยาจำเลยได้ครอบครองเป็นเจ้าของมากว่า ๓๐ ปี ต่อมาภริยาจำเลยได้รับโอนที่ดินแปลงนี้ในฐานะผู้รับมรดกแล้วจำเลยและภริยาจำเลยครอบครองตลอดมา ส่วนที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๗๘๕ นายน้อยขายให้กับผู้อื่นโดยทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในโฉนดเลขที่ ๒๗๓๕ และได้มีการโอนกรรมสิทธิ์กันต่อมาจนตกเป็นของนายแจ่ม นายแจ่มครอบครองเป็นเจ้าของมากว่า ๑๐ ปีแล้วจดทะเบียนโอนขายให้โจทก์ นายแจ่มซื้อที่ดินมาได้หนึ่งปีก็รู้ว่าโฉนดที่ดินไขว้กัน แต่นายแจ่มไม่ได้ร้องขอให้แก้ไขโฉนดเสียให้ถูกต้อง คงครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินแปลงตามหน้าโฉนดเลขที่ ๒๗๘๕ มานานกว่า ๑๐ ปี จึงขายให้โจทก์ นายแจ่มกับโจทก์รู้จักกันดี น่าเชื่อว่าโจทก์ทราบว่าที่ดินตามหน้าโฉนดเลขที่ ๒๗๓๕ ที่ไขว้กันนั้นเป็นที่ดินแปลงที่จำเลยครอบครองอยู่ การที่โจทก์รับซื้อที่ดินมาทั้ง ๆ ที่โฉนดยังไขว้กันอยู่นั้น เห็นได้ว่าโจทก์มีเจตนาจะซื้อที่ดินแปลงที่นายแจ่มได้ครอบครองเป็นเจ้าของอยู่ในขณะนั้น เป็นสำคัญยิ่งกว่าที่ดินแปลงตามหน้าโฉนดที่ถูกต้อง โจทก์ไม่มีสิทธิ์อ้างเอาที่ดินตามหน้าโฉนดที่ ๒๗๓๕ เพราะไม่มีเจตนาซื้อที่แปลงนี้ การมีชื่อนายแจ่มเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในโฉนดที่ ๒๗๓๕ ไม่ทำให้นายแจ่มมีสิทธิ์ขายที่ดินตามหน้าโฉนดนี้ได้เพราะไม่ใช่ที่ดินของตน เมื่อโจทก์เองก็รู้อยู่แล้วเช่นนั้นยังรับซื้อและโอนทางทะเบียนมา ฟังได้ว่าเป็นการได้สิทธิ์และได้จดทะเบียนสิทธิ์โดยไม่สุจริต ยิ่งกว่านั้น กรณีส่อให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิ์มาฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริตเพราะจะมีถนนตัดผ่านที่ดินของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิ์ฟ้องจำเลย
พิพากษายืน