คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1342/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีเดิมผู้ร้องทั้งสองฟ้องโจทก์ในคดีนี้ว่ารับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4754,4755,4756 และตึกแถวเลขที่ 35,37,39 ที่ผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมอยู่กับจำเลยในคดีนี้โดยไม่สุจริต ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวแต่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าววินิจฉัยชี้ขาดว่า จำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างที่จำนองแต่ผู้เดียว เท่ากับว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีแล้วว่าทรัพย์สินที่จำนองมิใช่ของผู้ร้องทั้งสองการที่ผู้ร้องทั้งสองมาร้องขัดทรัพย์ ในคดีนี้ขณะที่คดีเดิมยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4755,4756 และตึกแถวเลขที่ 37,39 เป็นของผู้ร้องทั้งสองตามลำดับ จึงเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นเดียวกันกับที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วในคดีเดิม การร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีเดิม ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนองเอาแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4754, 4755, 4756แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว อันได้แก่บ้านเลขที่ 35, 37และ 39 ซึ่งจำเลยได้จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง แต่จำเลยไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์จึงบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินทั้งสามแปลงพร้อมบ้านทั้งสามหลังนั้นเพื่อดำเนินการขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4755 และ4756 แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานครพร้อมบ้านเลขที่ 37 และ 39 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินแต่ละแปลงดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่ละคนตามลำดับไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ร้องทั้งสองขอให้ปล่อยทรัพย์สินของผู้ร้องทั้งสองที่ถูกยึด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งสองมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4755 และ 4756 แขวงป้อมปราบเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร และมิได้เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 37 กับบ้านเลขที่ 39 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว ที่ดินทั้งสองแปลงและบ้านทั้งสองหลังนั้นเป็นทรัพย์สินของจำเลยเพียงผู้เดียวอนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้ร้องทั้งสองได้เคยฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งให้เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยได้จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ไว้แก่โจทก์มาแล้วครั้งหนึ่งตามคดีหมายเลขดำที่ 11803/2529 (คดีหมายเลขแดงที่21445/2530) ของศาลชั้นต้น ซึ่งคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยนำมาจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์แต่ผู้เดียว และศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องคดีนั้นแล้ว เมื่อคดีดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์การที่ผู้ร้องมาร้องขอเป็นคดีนี้อ้างว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงพร้อมบ้านทั้งสองหลังที่ปลูกอยู่บนที่ดินนั้นเป็นของผู้ร้องทั้งสองอีกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองก็เป็นการฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คำฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ 21445/2530 ของศาลชั้นต้นผู้ร้องได้ฟ้องมีใจความว่าที่ดินและตึกแถวดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องทั้งสองเป็นทายาทของนายทวี ไพบูลย์สาธิต จึงเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน 4754, 4755, 4756 และตึกแถวเลขที่ 35, 37, 39 ดังกล่าวร่วมกับนางรัตนา(จำเลยคดีนี้)ต่อมาผู้ร้องทั้งสองทราบว่า โจทก์ในคดีนี้รับจำนองที่ดินและตึกแถวดังกล่าวไว้โดยไม่สุจริต จึงขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวเสีย ซึ่งปรากฏว่าในคดีดังกล่าวนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า นางรัตนาเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างที่จำนองดังกล่าวแต่ผู้เดียว ซึ่งเท่ากับวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีแล้วว่าทรัพย์สินที่จำนองดังกล่าวมิใช่ของผู้ร้องทั้งสอง การที่ผู้ร้องทั้งสองมาร้องขัดทรัพย์ในคดีนี้ในขณะที่คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โดยอ้างว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4745, 4756 พร้อมตึกแถวเลขที่ 37, 39 เป็นของผู้ร้องทั้งสองตามลำดับ จึงเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นเดียวกันกับที่ศาลนั้นได้วินิจฉัยไว้แล้วในคดีหมายเลขแดงที่ 21445/2530 ที่กล่าวมาการร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 21445/2530 ของศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144ที่ผู้ร้องทั้งสองฎีกาอ้างว่า ศาลในคดีแรกยังมิได้วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างเป็นมรดกหรือไม่ เห็นว่าคำว่ามรดกที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างเป็นเพียงที่มาของทรัพย์สินที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าเป็นของผู้ร้องทั้งสอง แต่ประเด็นสำคัญก็คงอยู่ที่ว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ร้องทั้งสองหรือไม่ ที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างอีกว่า บิดายกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องทั้งสองตั้งแต่ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้เยาว์นั้น ก็เป็นการขัดกันกับฎีกาข้อ 2ที่อ้างว่าเป็นมรดก อย่างไรก็ตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองก็ยืนยันว่าทรัพย์สินเป็นของผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาและพิพากษาไว้ตามคดีหมายเลขแดงที่ 21445/2530 แล้วทั้งสิ้น คดีจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น”
พิพากษายืน

Share