คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 115/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบุตรและเป็นผู้จัดการมรดกของมารดาอ้างมูลเหตุในฟ้องว่าจำเลยหลอกลวงมารดาโจทก์ว่า เมื่อจำเลยสร้างเขื่อนชลประทานและเขื่อนเก็บน้ำแล้วน้ำจะท่วมที่ดินของมารดาโจทก์ ให้มารดาโจทก์ขายที่ดินให้จำเลย มารดาโจทก์หลงเชื่อจึงขายที่ดินให้ ซึ่งความจริงเมื่อสร้างเขื่อนเสร็จแล้วน้ำไม่ท่วมที่ดิน จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าว ข้ออ้างของโจทก์เท่ากับเป็นการอ้างว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินเกิดจากกลฉ้อฉลของจำเลย ซึ่งจะมีผลทำให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 121 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเกิน 10 ปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมแล้วจึงไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนการโอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 143

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของนางสมบูรณ์เจริญพิบูลย์ ผู้ตาย ผู้ตายเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 เนื้อที่20 ไร่เศษ เมื่อประมาณ 10 กว่าปีมาแล้ว เจ้าหน้าที่กรมชลประทานจำเลยที่ 1 ได้ประกาศให้ราษฎรในตำบลของโจทก์ทราบว่าการสร้างเขื่อนชลประทานและเขื่อนเก็บน้ำหลายแห่งในจังหวัดกาญจนบุรี จะทำให้น้ำท่วมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง และได้แนะนำให้ราษฎรขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 ในราคาไร่ละ 2,000 บาท ถ้าไม่ขายน้ำจะท่วมและไม่ได้รับค่าตอบแทน โดยให้กำนันมาตามมารดาโจทก์กับโจทก์ไปตกลงขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมามารดาโจทก์ได้ทำนิติกรรมขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยความจำใจเพราะเชื่อคำประกาศของจำเลยที่ 1 ขณะนี้เขื่อนทั้งหลายสร้างเสร็จแล้ว ไม่ปรากฏว่าน้ำท่วมถึงที่ดินมารดาโจทก์ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งเกือบ 2 เมตร โจทก์และทายาททุกคนเพิ่งทราบแน่นอนว่าน้ำไม่ท่วมดังประกาศของจำเลยที่ 1เมื่อเดือนตุลาคม 2529 ก่อนฟ้องมีกฎหมายกำหนดให้ที่ดินของรัฐทั้งหมดอยู่ในความดูแลรักษาของกระทรวงการคลังจำเลยที่ 2 จึงมีผลให้ที่ดินพิพาทตกอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างมารดาโจทก์กับจำเลยที่ 1ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์และทายาทของมารดาโจทก์ ให้ส่ง น.ส.3 คืนให้โจทก์และรับเงินจากโจทก์คืนไปพร้อมดอกเบี้ย ถ้าไม่ยอมจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาการโอนที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมบูรณ์โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรม การฟ้องขอให้เพิกถอนต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนหรือภายในกำหนด 10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรม แต่นิติกรรมตามฟ้องทำเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2513 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่9 กุมภาพันธ์ 2530 พ้นกำหนด 10 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่22 กรกฎาคม 2513 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2530เกิน 10 ปีแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทได้ พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อ้างมูลเหตุในฟ้องมาว่าจำเลยที่ 1 ได้หลอกลวงมารดาโจทก์ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สร้างเขื่อนชลประทานและเขื่อนเก็บน้ำหลายแห่งในจังหวัดกาญจนบุรีแล้วน้ำจะท่วมที่ดินของมารดาโจทก์ ให้มารดาโจทก์ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้มารดาโจทก์หลงเชื่อ จึงตกลงทำนิติกรรมขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 ซึ่งความจริงเมื่อจำเลยที่ 1 สร้างเขื่อนเสร็จแล้วน้ำไม่ท่วมที่ดินของมารดาโจทก์ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินที่มารดาโจทก์ขายให้แก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ เท่ากับเป็นการอ้างว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินนั้นเกิดจากกลฉ้อฉลของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะมีผลทำให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 121 ที่โจทก์ฎีกาว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะเพราะมารดาโจทก์ไม่สมัครใจทำนิติกรรมดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้นโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเกิน 10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้นแล้วโจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนการโอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 143”
พิพากษายืน

Share