คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 536/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มีได้ 2 กรณี คือ กรณีที่เป็นการทำละเมิดต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรงตามมาตรา 24 ซึ่งได้แก่การกระทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือการนำออกโฆษณาซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 13 กับกรณีที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นการละเมิดต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 27ซึ่งได้แก่การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 27(1)ถึง (5) แต่งานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรงอีกต่อหนึ่ง ดังนั้นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 27จึงต้องปรากฏว่าผู้กระทำรู้อยู่แล้วว่างานนั้นทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในหนังสือที่โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยทำซ้ำและดัดแปลงบางส่วนแล้วจัดพิมพ์เป็นหนังสือออกจำหน่ายเพื่อประโยชน์การค้าของจำเลยทั้งห้าโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งห้าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ และห้ามมิให้จำเลยทั้งห้าจัดพิมพ์หนังสือกุญแจคณิตศาสตร์ ช่างอุตสาหกรรม 1, 2 และ 3อันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ต่อไปอีก ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันส่งมอบหนังสือดังกล่าวที่มีขายอยู่ในท้องตลาดทั้งหมดให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับซื้อลิขสิทธิ์ในหนังสือสองเล่มนี้โดยสุจริต และไม่เคยทราบมาก่อนว่า หนังสือสองเล่มนี้พิมพ์ขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานหนังสือของโจทก์ และมีผู้ปลอมเครื่องหมายของจำเลยที่ 3 เพื่อแอบอ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้พิมพ์และผู้โฆษณา ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์อีกจำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งห้าและจำเลยที่ 1 ที่ 2 จะชำระให้โจทก์เสร็จห้ามจำเลยทั้งห้าจัดพิมพ์หนังสือพิพาท ให้จำเลยทั้งห้าส่งมอบหนังสือพิพาทเอกสารหมาย จ.5 ให้โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ส่งมอบหนังสือพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ให้โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกจำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่าจำเลยทั้งห้าจัดพิมพ์หนังสือตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ออกขายเช่นนี้จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานหนังสือที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ต้องปรากฏว่าจำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าหนังสือตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 นี้ถูกพิมพ์ขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 แต่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้รู้อยู่แล้วว่าหนังสือตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 พิมพ์ขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์ จำเลยทั้งห้าจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเห็นว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มีได้ 2 กรณี คือกรณีแรก เป็นการทำละเมิดต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรงตามมาตรา 24 ได้แก่การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 24(1) หรือ (2) คือการกระทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือการนำออกโฆษณาซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยมิได้รับอนุญาตตามมาตรา 13 กรณีที่สอง เป็นกรณีที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นการละเมิดต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 27 ได้แก่การกระทำบางอย่างที่มิใช่เป็นการละเมิดต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรงอย่างเช่นกรณีตามมาตรา 24 แต่เป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 27(1) ถึง (4) แก่งานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรงอีกต่อหนึ่ง ในกรณีเช่นนี้จึงต้องปรากฏว่า ผู้กระทำรู้อยู่แล้วว่างานนั้นทำขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น มีผู้อื่นพิมพ์หนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งโดยพิมพ์ซ้ำหรือดัดแปลงจากหนังสือที่โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แล้วจำเลยนำเอาหนังสือที่ผู้อื่นพิมพ์ขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้นออกจำหน่ายในกรณีเช่นนี้ต้องปรากฏว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เนื่องจากจำเลยมิใช่ผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยตรงตามมาตรา 24 แต่กฎหมายให้ถือว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 27 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานหนังสือคู่มือครูคณิตศาสตร์ช่างอุตสาหกรรม 1, 2 และ 3 ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 จำเลยทั้งห้าได้ทำละเมิดต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าวคือร่วมกันจัดพิมพ์หนังสือเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 โดยลอกเลียนจากหนังสือเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 และศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานหนังสือเอกสารหมายจ.1 ถึง จ.3 จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันจัดพิมพ์หนังสือเอกสารหมาย จ.5และเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังได้จัดพิมพ์หนังสือเอกสารหมาย จ.5โดยลอกเลียนดัดแปลงจากหนังสือเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ก่อนและให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนี้ เท่ากับศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งห้าได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เป็นกรณีจำเลยทั้งห้ากระทำละเมิดต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยตรงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 จำเลยทั้งห้ามิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านข้อวินิจฉัยดังกล่าวของศาลอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่าโจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าหนังสือเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5พิมพ์ขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้น เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวโดยทำซ้ำและดัดแปลงจากหนังสือเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ที่โจทก์มีลิขสิทธิ์เป็นกรณีจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยตรงตามมาตรา 24โดยมิได้วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามมาตรา 27 คดีจึงไม่มีปัญหาว่าจำเลยทั้งห้ารู้หรือไม่ว่าหนังสือที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันจัดพิมพ์ขึ้นตามเอกสารหมาย จ.5 ก็ดี หรือที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจัดพิมพ์ขึ้นตามเอกสารหมาย จ.4 ก็ดีเป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าจำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้จัดพิมพ์เอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดด้วยนั้นโจทก์นำสืบนายธงชัย ชิวปรีชา รองผู้อำนวยการของโจทก์ได้ความว่าหนังสือเอกสารหมาย จ.5 นั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำขายโดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา และเมื่อตรวจดูหนังสือเอกสารหมายจ.5 แผ่นที่ 2 ด้านหลังก็มีชื่อจำเลยที่ 3 และชื่อจำเลยที่ 4 ระบุไว้ชัดว่าเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา จำเลยนำสืบนายสมศักดิ์ ทรัพย์ทวีพรบุตรชายจำเลยที่ 2 และนายสมศักดิ์ก็เบิกความลอย ๆ ว่าจำไม่ได้ว่าจ้างโรงพิมพ์ใดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ และแม้จะปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 4 ว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2526 โจทก์มีหนังสือแจ้งเรื่องโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 3 ละเมิดลิขสิทธิ์ให้ทราบจึงได้ส่งเรื่องให้ทนายความต่อไปทนายความได้มีหนังสือห้ามจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายเอกสิทธิ์ วิทยุกุล แอบอ้างใช้ชื่อจำเลยที่ 3ตามเอกสารหมาย ล.8 ถึง ล.12 ซึ่งปรากฏว่าไม่อาจส่งหนังสือดังกล่าวให้นายเอกสิทธิ์ได้เพราะไม่มีผู้รับตามที่จ่าหน้าส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับหนังสือดังกล่าว แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4ก็มิได้ดำเนินการตามกฎหมายหรือเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1ที่ 2 แต่อย่างใดจนกระทั่งถูกฟ้องเป็นคดีนี้เป็นเวลาถึง 2 ปีเศษทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 3 มีอาชีพประกอบกิจการโรงพิมพ์จะต้องรู้ว่าการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 นำชื่อจำเลยที่ 3 ไปลงพิมพ์ในหนังสือตามเอกสารหมาย จ.5 ในฐานะผู้พิมพ์และผู้โฆษณาตามมาตรา 13แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 จำเลยที่ 3 อาจจะต้องรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว และอาจต้องรับผิดในเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ด้วยพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการตามสมควรเช่นนี้จึงมีเหตุผลให้ฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือตามเอกสารหมาย จ.5 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share