คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยต่อสู้ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความมรดก แต่ได้ความว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีครอบครัวแล้วได้แยกไปอยู่ที่อื่น ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 อยู่ในที่พิพาทมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว 10 ปี จำเลยที่ 1 ได้ร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกรายพิพาทแต่ในการขายที่พิพาทโฉนดเลขที่ 56465 จำเลยที่ 3 ไม่ได้ปรึกษาจำเลยที่ 1 ประกอบกับเหตุที่จำเลยที่ 3 ยังไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทสาย ภ. เพราะยังตกลงกันไม่ได้ระหว่างทายาททุกคน จำเลยที่ 3 ตั้งใจจะแบ่งมรดกเมื่อมีการตกลงกันเรียบร้อยแล้วระหว่างทายาททุกฝ่าย โดยตั้งใจจะเรียกประชุมทายาทภายใน 3 เดือน เพื่อให้ทายาทตกลงกันว่าจะแบ่งมรดกกันอย่างไร แสดงว่า จำเลยที่ 3 รับโอนและครอบครอง ที่พิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท เป็นการครอบครองแทนทายาทของเจ้ามรดก ทุกคน จำเลยที่ 3 ไม่อาจยกเอาอายุความ 1 ปี หรือ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคแรกและวรรคท้าย ขึ้นต่อสู้โจทก์ ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกได้ ดังนี้คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 10 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีแทน โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเภา รุ่งสุวรรณ ผู้ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วส่วนโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางทรัพย์ วงษ์เพ็ง ผู้ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเภา รุ่งสุวรรณและนางทรัพย์ วงษ์เพ็ง ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว นายเภา รุ่งสุวรรณ บิดาโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และเป็นตาของโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนางสาวเคลิ้ม รุ่งสุวรรณผู้ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2516 ขณะถึงแก่กรรมนางสาวเคลิ้ม รุ่งสุวรรณ เป็นโสดไม่มีสามีและบุตรส่วนบิดามารดาถึงแก่กรรมไปก่อนหน้านี้แล้ว ขณะถึงแก่กรรมดังกล่าว นางสาวเคลิ้มกับนายนัน รุ่งสุวรรณ มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดิน 2 แปลง อยู่ที่ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิกรุงเทพมหานคร โฉนดเลขที่ 344 จำนวน 40 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวากึ่งหนึ่งราคา 800,000 บาท และโฉนดเลขที่ 56465 จำนวน 7 ไร่3 งาน 81 ตารางวา กึ่งหนึ่งราคา 105,000 บาท รวมราคาทรัพย์สินดังกล่าว 905,000 บาท และไม่ได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวไว้หลังจากนางสาวเคลิ้ม รุ่งสุวรรณ ถึงแก่กรรมแล้วทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกได้ร่วมกันครอบครองทรัพย์มรดกโดยมิได้แบ่งแยก ต่อมาโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ได้ยื่นคำร้องขอรับมรดกเฉพาะส่วนต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านและต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวเคลิ้ม รุ่งสุวรรณจำเลยที่ 3 ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวข้างต้นเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก โดยไม่ยอมแบ่งมรดกให้ทายาทอื่น ๆ โจทก์ทั้งสิบในฐานะทายาทผู้รับมรดกแทนที่นายเภา รุ่งสุวรรณ มีสิทธิได้รับมรดกรายนี้ด้วยจำนวน 1 ใน 6 ส่วน คิดเป็นเงินจำนวน 150,833 บาท จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันแบ่งที่ดินมรดกส่วนของนางสาวเคลิ้ม รุ่งสุวรรณ ดังกล่าวให้โจทก์จำนวน 1 ใน 6 ส่วนหากไม่สามารถแบ่งแยกได้ให้เอาทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดแบ่งชำระให้โจทก์ตามส่วนดังกล่าวหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามโดยให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิจดทะเบียนให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทุกคน
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 ไม่มีสิทธิรับมรดกพิพาทคดีนี้ เพราะมิได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางทรัพย์ วงษ์เพ็งโจทก์ทั้งสิบไม่ได้ฟ้องร้องหรือใช้สิทธิของทายาทเรียกทรัพย์มรดกภายในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754, 1755 คดีขาดอายุความฟ้องร้อง ที่พิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว จึงมิใช่ทรัพย์มรดกในขณะที่โจทก์ฟ้องคดี การที่จำเลยที่ 3 ไม่สามารถแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และทายาทได้เพราะมีนายเสงี่ยม เอี่ยมอ่อนทายาทคนหนึ่งไปร้องคัดค้านการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของทายาทเกิดขึ้นแล้วโจทก์ทั้งสิบจึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยที่ 3 ให้แบ่งทรัพย์มรดกได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 344 และ 56465 ตำบลลาดพร้าวอำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานครเฉพาะส่วนของนางสาวเคลิ้ม รุ่งสุวรรณ เจ้ามรดก จำนวน 1 ใน 6 ส่วน ให้โจทก์ทั้งสิบ หากไม่สามารถแบ่งได้ให้เอาออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งตามส่วนดังกล่าวข้างต้น หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ขณะที่นางสาวเคลิ้ม รุ่งสุวรรณเจ้ามรดกถึงแก่กรรม เจ้ามรดกยังเป็นโสด และบิดามารดาถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว ที่พิพาททั้งสองแปลงในส่วนที่เจ้ามรดกมีกรรมสิทธิ์อยู่ด้วยกึ่งหนึ่งจึงเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันจำนวน 6 คน ได้แก่จำเลยที่ 1ที่ 2 นายเภา รุ่งสุวรรณ นางโหมด กลั่นหอม นางพ่วง เอี่ยมอ่อนและนางจั่น ด้วงอุไร เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และนางทรัพย์ วงษ์เพ็ง เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเภา รุ่งสุวรรณ นายเภา รุ่งสุวรรณได้ถึงแก่กรรมภายหลังเจ้ามรดก ฉะนั้นสิทธิในการรับมรดกรายนี้ในส่วนของนายเภา รุ่งสุวรรณ จึงตกได้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และนางทรัพย์ วงษ์เพ็ง ผู้สืบสันดานชั้นบุตร ต่อมานางทรัพย์ วงษ์เพ็ง ถึงแก่กรรมลงภายหลังนายเภา รุ่งสุวรรณเช่นนี้ สิทธิเกี่ยวกับที่พิพาทในส่วนที่นางทรัพย์ วงษ์เพ็งมีอยู่ในฐานะบุตรของนายเภา รุ่งสุวรรณ จึงตกทอดไปยังโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นบุตรด้วยเช่นเดียวกันคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามว่าจำเลยที่ 3 ได้ครอบครองที่พิพาทมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้วในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ชอบด้วยวิธีพิจารณาหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ครอบครองที่พิพาทโดยสงบโดยเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 15 ปีก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรมและหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2516 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวต่อมาเป็นเวลา 10 ปีเศษด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินนี้ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การว่าโจทก์ทั้งสิบมิได้ฟ้องร้องหรือใช้สิทธิของทายาทในการฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754, 1755 คดีขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว โดยจำเลยทั้งสามมิได้ยกประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 3 ได้ครอบครองที่พิพาทในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาเกิน 10 ปีแล้วขึ้นว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้นแต่อย่างใด ประกอบกับปัญหาดังกล่าวมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงชอบด้วยวิธีพิจารณาแล้ว
ฎีกาข้อต่อไปมีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้วหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยที่ 3 ว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีครอบครัวแล้วได้แยกไปอยู่ที่อื่น ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2อยู่ในที่พิพาทมาจนถึงปัจจุบัน ข้อนำสืบของจำเลยนี้เจือสมกับที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2ได้เข้ามาอยู่อาศัยในที่พิพาทโดยนายแจ่มกับนางเฉยบิดามารดาของเจ้ามรดกเป็นผู้นำมาเลี้ยงตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่าเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว 10 ปีจำเลยที่ 1 ได้ร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกรายพิพาทนั้น แต่กลับปรากฏว่า ในการขายที่พิพาทโฉนดเลขที่ 56465จำเลยที่ 3 ไม่ได้ปรึกษาจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ประกอบกับจำเลยที่ 3 ยังเบิกความด้วยว่าเหตุที่จำเลยที่ 3 ยังไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทสายนายเภาเพราะยังตกลงกันไม่ได้ระหว่างทายาททุกสาย จำเลยที่ 3 ตั้งใจจะแบ่งมรดกเมื่อมีการตกลงกันเรียบร้อยแล้วระหว่างทายาททุกฝ่าย โดยตั้งใจว่าจะเรียกประชุมทายาทภายใน 3 เดือนนี้ เพื่อให้ทายาทตกลงกันว่าจะแบ่งมรดกกันอย่างไร ดังนี้ย่อมแสดงโดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 3รับโอนและครอบครองที่พิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จึงเป็นการครอบครองแทนทายาทของเจ้ามรดกด้วยกันทุกคน ดังนั้นจำเลยที่ 3 ย่อมไม่อาจยกเอาอายุความ 1 ปี หรือ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคแรก และวรรคท้าย ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสิบซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกได้ คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน

Share