คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ต่อไป ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 38 ซึ่งต้องมีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับไปด้วยตามมาตรา 39 นั้น จะต้องปรากฏว่าได้มีการนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ต่อไปภายหลังที่นำไม้หรือของป่าที่ได้รับใบอนุญาตไปถึงที่อันระบุไว้ในใบอนุญาตแล้ว หรือนำไม้ที่ทำโดยไม่ต้องรับอนุญาตออกไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้ว ดังนั้นเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยนำหวายเคลื่อนที่จากจังหวัดหนองคายมาถึงอำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม โดยผ่านเข้าเขตด่านป่าไม้ จังหวัดนครพนม โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นการนำไม้เคลื่อนที่ต่อไปภายหลังที่ไปถึงที่อันระบุไว้ในใบอนุญาต หรือไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกตามมาตรา 38(1) หรือ (2) จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158(5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำหวายเส้นเล็ก ซึ่งเป็นของป่าเคลื่อนที่โดยรถยนต์บรรทุกจากอำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ไปยังตำบลปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม โดยผ่านเข้าเขตด่านป่าไม้จังหวัดนครพนมโดยไม่มีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับตามกฎหมายเหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคายและตำบลปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 39, 71, 74, 74จัตวาและริบหวายของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงตามมาตรา 38มาในคำฟ้องด้วย ถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบความผิด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายหรือไม่พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2483 มาตรา 38 บัยญัติว่า”บทบัญญัติในส่วนนี้ให้ใช้บังคับแก่กรณีการนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ต่อไปภายหลังที่
(1) นำไม้หรือของป่าที่ได้รับใบอนุญาตไปถึงที่อันระบุไว้ในใบอนุญาตแล้ว
(2) นำไม้ที่ทำโดยไม่ต้องรับอนุญาตออกไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้ว
………………………………..”
มาตรา 39 บัญญัติว่า “ผู้ใดนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ต้องมีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับไปด้วยตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง”
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบทบัญญัติของมาตรา 38 ให้ใช้บังคับถึงการนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ต่อไปภายหลังที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งของ (1) ถึง (4) ดังนั้น ผู้ที่นำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ ซึ่งจะต้องมีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับไปด้วยตามมาตรา 39ก็ต่อเมื่อปรากฎความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 สำหรับคดีนี้จะต้องปรากฎว่า จำเลยนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ต่อไปภายหลังที่ไปถึงที่อันระบุไว้ในใบอนุญาตแล้วตาม (1) หรือนำไม้ที่ทำโดยไม่ต้องรับอนุญาตไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรกแล้ว ตาม (2) ของมาตรา 38 เพราะหากเป็นการนำไม้หรือของป่าที่ได้รับอนุญาต เมื่อยังไม่ไปถึงที่อันระบุไว้ในใบอนุญาต หรือการนำไม้ที่ทำโดยไม่ต้องรับอนุญาตเมื่อยังไม่ไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรก ก็ยังไม่จำต้องมีใบเบิกทางของพนักงานเจ้าหน้าที่กำกับตามมาตรา 39 การที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยนำหวายเคลื่อนที่จากจังหวัดหนองคายมาถึงอำเภอปลาปากจังหวัดนครพนม โดยผ่านเข้าเขตด่านป่าไม้จังหวัดนครพนม โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นการนำไม้เคลื่อนที่ต่อไป ภายหลังที่ไปถึงที่อันระบุไว้ในใบอนุญาตหรือไปถึงด่านป่าไม้ด่านแรก ตามมาตรา 38(1) หรือ (2)ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงบรรยายข้อเท็จจริงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่เมื่อฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายเสียแล้ว คดีก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1420/2509 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดสิงห์บุรี โจทก์นายชุ้น โพธิทอง จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน”.

Share