คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 174/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทำสัญญาขายที่ดินกันแล้ว คู่สัญญาไปขอทำการโอนที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินในเรื่องนี้ตลอดมา ไม่ปรากฎว่าเจ้าพนักงานได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทำการโอน เหตุทางอำเภอยังไม่โอนให้ ก็เพราะรอฟังคำสั่งกรมที่ดินอยู่เท่านั้น ซึ่งในระหว่างนั้นทางการยังดำเนินการพิจารณาเรื่องราวที่ขอโอนอยู่ ดังนี้ไม่ถือว่าการโอนหรือการชำระหนี้เป็ฯพ้นวิสัยอันจะทำให้ผู้ขายหลุดพ้นจากการชำระหนี้ตามมาตรา 219 และถือว่า สัญญาซื้อขายจะถือเอาการที่เจ้าพนักงานยังมิได้ทำสัญญาให้ดังกล่าวแล้ว เป็นเหตุบอกเลิกสัญญาไม่ได้
พฤติการณ์ที่ถือได้ว่า ลูกหนี้ละเลยไม่ชำระหนี้ของตน
ทำสัญญาจะขายทรัพย์สินแก่ผู้ซื้อซึ่งร่วมกันหลายคน ถือว่าผู้ซื้อแต่ละคนเป็นเจ้าหนึ้ร่วมกันตามมาตรา 298 เจ้าหนี้ร่วมเพียงคนเดียวก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะมอบอำนาจให้ผูแทนฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ทั้งหมดได้
โจทก์ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้คนหนึ่งให้ฟ้องจำเลยโดยส่งสำเนาใบมอบอำนาจพร้อมกับฟ้อง จำเลยต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องเพียงว่าใบมอบอำนาจฟ้องร้องไม่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย ในวันชี้สองสถาน จำเลยแถลงว่าโจทก์ไมีมีอำนาจฟ้อง เพราะเจ้าหนี้ร่วมอีก2คน มิได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้อง ิได้โต้แย้งในเรื่องความแท้จริงแห่งใบมอบอำนาจนั้นแต่ประการใด จนเมื่อศาลสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงยกเป็นข้ออ้างว่าโจทก์ไม่ได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจ ดังนี้ถือว่าไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความจริงแห่งใบมอบอำนาจ และถือได้ว่าจำเลยยอมรับในความแท้จริง แห่งใบมอบอำนาจนั้นแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายทรัพย์ต่างๆของบริษัทแก่นายโชติ นายโชติ ล่ำซำ,นายจุลินทร์ ล่ำซำและนางทองพูน ล่ำซำ รวมราคา ๗๖๖๘๕ บาทแต่จำเลยบิดพลิ้วไม่ยอมโอนให้ โจทก์ได้รับมอบอำนาจจากนายโชติ ล่ำซำ จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้โอนทรัพย์ที่ยังไม่ได้โอนให้แก่โจทก์ตามสัญญา ได้ส่งสำเนาใบมอบอำนาจมาพร้อมฟ้องด้วย.
จำเลยให้การต่อสู้ว่า การที่ทางบริษัทยังมิได้ทำสัญญาโอนให้นั้นเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่ยอมทำสัญญาให้ ซึ่งมิใช่ความผิดของบริษัท กับต่อสู้ว่า ใบมอบอำนาจไม่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า สำเนามอบอำนาจท้ายฟ้องเป็นสำเนาถูกต้อง เพราะจำเลยมิได้โต้เถียงว่า ไม่มีการมอบอำนาจ เป็นแต่เถียงว่า การมอบอำนาจนั้นไม่ถูกชอบด้วยกฎหมาย และเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ยังไม่ยอมทำสัญญาให้โจทก์เป็นการสมควร และพฤติกรรมอันหนึ่งซึ่งทำให้ลูกหนี้คือจำเลยไม่ต้องรับผิดตาม ป.ม.แพ่งฯ ม.๒๐๔ จึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยโอนทรัพย์สินทั้งหมดที่ยังไม่ได้โอนให้แก่โจทก์ตามสัญญา
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า นายโชติ ล่ำซำ เป็นเจ้าหนี้ร่วมคนหนึ่งย่อมมีสิทธิ์มอบอำนาจให้นายกำพล ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ชำระหนี้ทั้งหมดได้
ข้อที่จำเลยค้านว่า โจทก์มิได้ส่งต้นฉบับใบมอบอำนาจต่อศาล ส่งแต่สำเนาฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้นในคำให้การของจำเลยต่อสู้แต่เพียงว่า ใบมอบอำนาจฟ้องร้องไม่ถูกชอบด้วยกฏหมาย และในวันชี้สองสถาน จำเลยแถลงว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะนายจุลินทร์ นางทองพูลมิได้มอบอำนาจให้นายโชติฟ้องคดีแทน แต่นายโชติมอบอำนาจฟ้องร้องให้แก่นายกำพลขึ้นเองดังปรากฏตามใบมอบอำนาจท้ายฟ้องโจทก์นั้น จำเลยมิได้แย้งในเรื่องความแท้จริงแห่งใบมอบอำนาจนั้นแต่ประการใด เพิ่งมายกขึ้นเป็นข้ออ้างว่าโจทก์ไม่ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจ เมื่อศาลสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จสิ้นไปแล้ว ฉะนั้นศาลล่างวินิฉัยว่า โจทก์ไม่นำต้นฉบับใบมอบอำนาจมาแสดงก็ใช้ใด้นั้น จึงเป็นการชอบแล้ว เพราะคดีไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความแท้จริงแห่งใบมอบอำนาจ ต้องถือว่าจำเลยยอมรับในความแท้จริงแห่งใบมอบอำนาจนั้นแล้ว
ส่วนในข้อเท็จจริงนั้นเห็นว่า เมื่อโจทก์จำเลยไปขอทำการโอนที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วก็ได้มีการดำเนินในเรื่องนี้ตลอดมา ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทำการโอน เหตุอำเภอยังไม่โอนให้ก็เพราะรอฟังคำสั่งกรมที่ดินอยู่เท่านั้น ซึ่งอยู่ในระหว่างนี้ทางการก็ยังดำเนินการพิจารณาเรื่องราวขอโอนอยู่ รูปคดีไม่มีทางจะถือได้ว่า การโอนหรือการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๒๑๙ สัญญาระหว่างโจทก์จำเลย ยังมีผูกพันต่อกันอยู่ จำเลยจะถือเอาการที่เจ้าพนักงานยังมิได้ทำสัญญาให้ดังกล่าวมาแล้วเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาไม่ได้ นอกจากนั้นก่อนฟ้องนายเจียนพัด ผู้จัดการจำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์ ขอเพิ่มราคาและขอสัญญาใหม่ เมื่อฟ้องแล้ว จำเลยได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์ และขอถอนคำร้องขอโอนที่ดินรายนี้เสีย พฤติการณ์เหล่านี้ประกอบกับโจทก์ได้ตักเตือนให้จำเลยทำการโอนโรงสีเสียก่อน โดยทางกรมพาณิชย์สั่งอนุญาตให้ทำการโอนได้แล้ว จำเลยก็เพิกเฉยเสีย ย่อมถือได้ว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน โจทก์ชอบที่จะฟ้องให้ศาลสั่งบังคับชำระหนี้ได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๒๑๓ จึงพิพากษายืน

Share