แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขับรถยนต์ประมาทตัดหน้ารถไฟโจทก์เป็นเหตุให้รถไฟโจทก์ชนและเสียหายค่าใช้จ่ายในโรงงานที่โจทก์คิดเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ105.5 ของค่าแรง 1 หน่วย และค่าควบคุมอัตราร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในโรงงาน และค่าที่โจทก์เสียไปในการสืบสวนสอบสวนเหตุที่เกิดละเมิด แม้พนักงานของโจทก์อ้างว่าเป็นระเบียบของโจทก์ให้ถือปฏิบัติโดยนำวิธีการคำนวณมาจากสถิติก็ตาม ถือไม่ได้ว่าค่าใช้จ่ายทั้งสองส่วนดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นผลจากการทำละเมิด ค่ายกรถตกรางซึ่งโจทก์คิดเป็นค่าโอเวอร์เฮดชาร์จ ค่าอาหารเลี้ยงดูผู้ปฏิบัติงานและค่าควบคุมเพิ่มขึ้นมานั้น สำหรับค่าโอเวอร์เฮดชาร์จ กับค่าควบคุมซึ่งคิดในอัตราร้อยละ 51 และร้อยละ 25 ของค่าแรงยกรถตามลำดับ โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเกี่ยวข้องกับการซ่อมอย่างไร และมีหลักการคิดคำนวณอย่างไร จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นค่าเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการละเมิดส่วนค่าอาหารเลี้ยงดูผู้ปฏิบัติงาน โจทก์มิได้นำสืบว่าเหตุใดเมื่อจ่ายค่าแรงแล้วต้องจ่ายค่าอาหารอีกจึงเป็นค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อน ค่าจัดรถพิเศษช่วยอันตรายซึ่งโจทก์เพิ่มค่าควบคุมเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 20 สำหรับรถโดยสารและในอัตราร้อยละ 15 สำหรับรถสินค้า พนักงานของโจทก์อ้างว่าคิดคำนวณจากระเบียบของโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการทำละเมิดเช่นกัน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังตัดหน้าขบวนรถไฟของโจทก์ เป็นเหตุให้รถไฟของโจทก์ชนรถยนต์บรรทุก รถไฟของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า เหตุเกิดจากความประมาทของคนขับรถไฟของโจทก์ ค่าเสียหายของโจทก์น้อยกว่าที่ฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 395,872.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย แล้ววินิจฉัยปัญหาเรื่องค่าเสียหายว่า สำหรับค่าเสียหายในการซ่อมรถไฟคันเกิดเหตุของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งเป็นค่าแรงจำนวน 148,218.01 บาทและค่าของจำนวน 57,237.96 บาท โจทก์มีนายเฉลียว สุขเวช มาเบิกความประกอบเอกสารดังกล่าวเชื่อได้ว่าโจทก์ได้ใช้จ่ายไปจริง ส่วนค่าเสียหายซึ่งโจทก์ว่าเป็นค่าใช้จ่ายในโรงงานซึ่งมีค่าไฟฟ้าค่าน้ำประปา ค่าเชื้อเพลิง ค่าเครื่องจักรทำงาน ค่าเสื่อมราคาและค่าบำรุงรักษาเครื่องจักรคิดเป็นเงินจำนวน 156,370 บาท กับค่าควบคุมซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์เสียไปในการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงที่เกิดเหตุละเมิดขึ้นจำนวน 90,456.49 บาทนั้นแม้โจทก์จะมีนายไพฑูรย์ ศรีวรวิทย์มาเบิกความว่าค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถไฟไม่ครบถ้วน จึงต้องคิดเป็นค่าใช้จ่ายในโรงงานและค่าควบคุม โดยคิดมาในอัตรา 105.5 ของค่าแรง 1 หน่วย สำหรับค่าใช้จ่ายในโรงงาน และอัตราร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในโรงงานสำหรับค่าควบคุม ซึ่งหลักการในการคิดคำนวณนี้ นายธงไชยนาคสีเหลือง เบิกความว่าเป็นระเบียบของการรถไฟ ปี พ.ศ. 2525ให้ถือปฏิบัติโดยนำวิธีการคำนวณมาจากสถิติก็ตาม แต่หลักการในการคิดค่าเสียหายของโจทก์ดังกล่าวนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการคิดมาจากผลการทำละเมิด โจทก์จะคิดเอาค่าใช้จ่ายทั้งสองรายการนี้มารวมกับค่าแรง และค่าของเพื่อคิดเป็นค่าเสียหายเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสามไม่ได้ สำหรับค่าเสียหายด้านการโดยสารจำนวนเงิน8,347 บาท โจทก์มีนายสำเนา วัชรสินธุ์ เบิกความประกอบเอกสารหมายจ.18 ว่า จากเหตุที่รถไฟโจทก์ตกรางทำให้การเดินรถต้องหยุดชะงักเป็นเหตุให้โจทก์ขาดรายได้ เมื่อคิดจากสถิติการจำหน่ายตั๋วรถไฟหลายขบวนที่โจทก์เคยได้รับค่าโดยสารมาถัวเฉลี่ยจะเป็นเงิน 8,347บาท นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้เป็นเงิน 4,000 บาท เป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามแล้ว สำหรับค่าเสียหายในการซ่อมทางของฝ่ายการช่างโยธาเป็นค่าแรง 9,975.76 บาท ค่าของ87,564.40 บาท ตามเอกสารหมาย จ.11 ค่าใช้จ่ายในการยกรถตกรางเป็นค่าแรง 6,426.60 บาท ตามเอกสารหมาย จ.12 ค่าลากจูงรถไฟคันเกิดเหตุจำนวน 2,650 บาท ตามเอกสารหมาย จ.20 โจทก์มีนายจำรัสเสกตระกูล นายธงไชย นาคสีเหลือง และนางสังวาลย์ โกมลเดชเบิกความประกอบเอกสารดังกล่าวว่าเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ใช้จ่ายไปหลังจากเหตุละเมิดจริง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชดใช้จากจำเลยทั้งสาม แต่สำหรับค่ายกรถตกรางซึ่งโจทก์คิดเป็นค่าโอเวอร์เฮดชาร์จ ค่าอาหารเลี้ยงดูผู้ปฏิบัติงานและค่าควบคุมเพิ่มขึ้นมานั้น เห็นว่า ค่าโอเวอร์เฮดชาร์จกับค่าควบคุมซึ่งคิดในอัตราร้อยละ 51 และร้อยละ 25 ของค่าแรงยกรถ ตามลำดับ โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเกี่ยวข้องกับการซ่อมรายนี้อย่างไรและมีหลักการคิดคำนวณอย่างไร จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นค่าเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการละเมิด ส่วนค่าอาหารเลี้ยงดูผู้ปฏิบัติงานโจทก์มิได้นำสืบว่าเหตุใดเมื่อจ่ายค่าแรงแล้ว ต้องจ่ายค่าอาหารอีกจึงเป็นค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสาม สำหรับค่าจัดรถพิเศษช่วยอันตรายซึ่งโจทก์มีนายสมยศรุจิโมรา มาเบิกความว่า เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ต้องจัดขบวนรถไฟพิเศษของโจทก์ไปจัดการเปิดทาง ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น24,215 บาท ปรากฏหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.19 นั้น เห็นว่าตามคำเบิกความของนายสมยศว่าได้คำนวณเพิ่มค่าควบคุมรถโดยสารในอัตราร้อยละ 20 รถสินค้าในอัตราร้อยละ 15 ไว้ด้วยโดยคิดคำนวณจากระเบียบของโจทก์ การที่นายสมยศคำนวณค่าควบคุมการจัดเดินรถพิเศษช่วยอันตรายเพิ่มขึ้นมาตามระเบียบของโจทก์ดังกล่าวนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการทำละเมิด จึงต้องกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ใหม่เป็นจำนวนเงิน 19,750 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ได้รับจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน335,822.33 บาท เนื่องจากเหตุละเมิดในครั้งนี้โจทก์มีส่วนประมาทอยู่ด้วย และที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในผลแห่งความประมาทสองในสามส่วน โจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้ฎีกาขึ้นมา จึงถือได้ว่าเป็นที่พอใจแล้ว เมื่อคิดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์จึงเป็นเงินทั้งสิ้น223,881.55 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 223,881.55 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2527 ซึ่งเป็นวันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.