แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องในฐานความผิดฉ้อโกงมีใจความว่าจำเลยกับพวกรับสมัครคนหางานเพื่อส่งไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน หากบุคคลใดต้องการไปทำงาน และเมื่อเสียค่าบริการให้แก่จำเลยกับพวกแล้วจำเลยกับพวกจะส่งบุคคลนั้นไปทำงานยังประเทศไต้หวันตามที่ต้องการซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกับพวก มิได้รับอนุญาตให้จัดหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย จำเลยกับพวกไม่มีความสามารถจัดส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน และไม่มีเจตนาที่จะส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศไต้หวันดังที่จำเลยกับพวกกล่าวอ้าง เช่นนี้คำฟ้องของโจทก์ได้ความโดยชัดแจ้งว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจัดหางานให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหาย จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายว่าจะส่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศไต้หวันก็เพื่อที่จะได้รับเงินค่าบริการจากโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคแรก จำเลยเป็นผู้ชักชวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน โดยอ้างว่าเคยส่งคนไปทำงานมาแล้ว และเรียกค่าบริการจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหาย จำเลยรับเงินจากโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายไปแล้วไม่ดำเนินการให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายได้เดินทางไปทำงานตามที่จำเลยพูดรับรองไว้ ทั้งไม่ยอมคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยร่วมหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายโดยไม่มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,343, 83 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30, 82 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 477,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 22 คน
ผู้เสียหาย 21 คน ตามบัญชีรายชื่อท้ายฟ้องเว้นแต่นายหล่อมูลขุนทดขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 341 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคแรก, 82 ให้เรียงกระทงลงโทษ ความผิดฐานฉ้อโกงจำคุก 6 เดือน ฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่รับอนุญาตจำคุก 3 ปี รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 477,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 22 คนด้วย ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30,82 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยไปชักชวนให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศ จำเลยได้ร่วมกับนายบุญยงค์รับเงินไว้ เป็นธุระจัดหาพาหนะให้คนงานไปพบนายบุญยงค์ที่กรุงเทพมหานคร ฟังได้ว่าจำเลยกับนายบุญยงค์จัดหางานให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานตามฟ้องโจทก์นั้น เห็นว่า การที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30 วรรคแรกนั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาที่จะจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ แต่ผู้กระทำไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง กรณีของคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในฐานความผิดฉ้อโกงมีใจความว่าจำเลยกับพวกรับสมัครคนหางานเพื่อส่งไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน หากบุคคลใดต้องการไปทำงาน และเมื่อเสียค่าบริการให้แก่จำเลยกับพวกแล้ว จำเลยกับพวกจะส่งบุคคลนั้นไปทำงานยังประเทศไต้หวันตามที่ต้องการซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกับพวกมิได้รับอนุญาตให้จัดหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย จำเลยกับพวกไม่มีความสามารถจัดส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน และไม่มีเจตนาที่จะส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศไต้หวันดังที่จำเลยกับพวกกล่าวอ้างเช่นนี้คำฟ้องของโจทก์ได้ความโดยชัดแจ้งว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจัดหางานให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายจำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายว่าจะส่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศไต้หวันก็เพื่อที่จะได้รับเงินค่าบริการจากโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ที่โจทก์อ้างว่าการที่โจทก์บรรยายฟ้องดังกล่าวมาข้างต้นเพื่อให้เข้าองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงอีกกระทงหนึ่งเท่านั้นฟังไม่ขึ้น ปัญหาต่อไปที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร่วมและผู้เสียหายเบิกความมีเหตุผลสอดคล้องต้องกัน โจทก์ร่วมและผู้เสียหายรู้จักจำเลยและนายบุญยงค์สามีจำเลยมาก่อนเพราะอยู่หมู่บ้านเดียวกัน ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยเชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมและผู้เสียหายได้เบิกความไปตามความจริงข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมและผู้เสียหายรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ไปชักชวน โจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศไต้หวันโดยอ้างว่าเคยส่งคนไปทำงานมาแล้ว และเรียกค่าบริการจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหาย เมื่อถึงวันนัดชำระเงินค่าบริการที่บ้านของจำเลย จำเลยและนายบุญยงค์สามีอยู่ที่บ้านช่วยกันรับเงินค่าบริการและทำบัญชีรายชื่อคนงานไว้ นายบุญยงค์รับช่วยทำพาสปอร์ตให้โจทก์ร่วมบางคน และรับพาสปอร์ตจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปเพื่อนำไปให้บริษัทสหบูรพา จำกัด ติดต่อขอออกวีซ่าให้ จำเลยเป็นผู้นัดหมายโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปพบนายบุญยงค์ที่กรุงเทพมหานครเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปประเทศไต้หวันหลายครั้ง เป็นผู้จัดหายานพาหนะพาโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายไปส่งที่กรุงเทพมหานครเพื่อเดินทางไปทำงานและจัดที่พักให้จำเลยกับนายบุญยงค์ร่วมกันบอกเลื่อนการเดินทาง จำเลยเป็นผู้ประสานงานระหว่างโจทก์ร่วมและผู้เสียหายกับนายบุญยงค์ในการที่นายบุญยงค์จะให้โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายเดินทางไปประเทศไต้หวันในวันเวลาใด เมื่อบริษัทสหบูรพา จำกัดขอออกวีซ่าให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายไม่ได้ และได้คืนเงินค่าขอออกวีซ่าให้นายบุญยงค์ นายบุญยงค์ได้เงินแล้วหลบหนีไปไม่นำเงินมาคืนให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหาย จำเลยได้ตกลงว่าจะจ่ายเงินคืนให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายคนละ 17,000 บาท แต่จำเลยก็ไม่คืนให้ตามข้อตกลง พฤติการณ์ที่จำเลยกับนายบุญยงค์รับเงินจากโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายไปแล้วไม่ดำเนินการให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายได้เดินทางไปทำงานตามที่จำเลยกับนายบุญยงค์พูดรับรองไว้ ทั้งไม่ยอมคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยร่วมหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายโดยไม่มีเจตนาที่จะจัดหางานให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า หลังจากที่จำเลยและนายบุญยงค์รับเงินค่าบริการจัดหางานจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายนายบุญยงค์ได้ดำเนินการจัดทำวีซ่าให้แก่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายอันเป็นขั้นตอนในการที่จะให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศไต้หวันแล้ว แม้จำเลยและนายบุญยงค์จะมิได้เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศแต่จำเลยและนายบุญยงค์อาจสามารถจัดหางานให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศไต้หวันโดยวิธีอื่นได้ เพราะได้ความว่านายบุญยงค์เคยจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศมาแล้วก่อนเกิดเหตุ การกระทำของจำเลยกับนายบุญยงค์ไม่ใช่เป็นการหลอกลวงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 จำคุก 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 477,000 บาทแก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.