แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 188 นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหลวงขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ หัวหน้าแผนกพิจารณาอุทธรณ์และคำร้อง กองกฎหมายและคดี หัวหน้าแผนกสำรวจ กองรังวัดและที่ดิน ฝ่ายการโยธาเทศบาลนครหลวงหรือของกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 ในปัจจุบันเป็นกรรมการเวนคืนที่ดินพิพาทเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และมีประกาศของจำเลยที่ 1 ให้เจ้าของที่ดินยื่นคำขอรับเงินค่าทดแทนจากคณะกรรมการเวนคืน นอกจากนี้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 188 ข้อ 3 พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 มาตรา 8, 10 ให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นตกมาเป็นของเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่จะมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อใช้เงินหรือวางเงินค่าทดแทนแล้ว แสดงความมุ่งหมายของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 188 ว่า การเวนคืนที่ดินพิพาทก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าเมื่อ พ.ศ.2526 จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำถนนโดยไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ ส.เจ้าของที่ดินพิพาทขณะนั้น ตามประกาศของคณะปฏิวัติแต่อย่างใดเมื่อ ส.ทวงถาม จำเลยที่ 1 กลับมีหนังสือตอบผัดผ่อนเรื่อยมาโดยไม่ได้โต้แย้งให้ทวงถามค่าทดแทนจากบุคคลอื่น โจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกจาก ส.จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ได้จำเลยที่ 1 ไม่อาจยกเหตุที่ไม่ได้งบประมาณจากรัฐบาลเป็นข้อแก้ตัวได้
เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดินพิพาท แม้จะฟังว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้โอนสิทธิในที่ดินพิพาทไปให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยภายหลังก็หาทำให้โจทก์สิ้นสิทธิเรียกค่าทดแทนซึ่งมีอยู่เดิมแล้วแต่อย่างใดไม่ ทั้งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวก็ไม่ใช่กฎหมายที่จะลบล้างประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 188 ซึ่งมีผลเป็นกฎหมายอีกด้วย
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 36วรรคสอง การเวนคืนและการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ เมื่อกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ยังมิได้กำหนดค่าทดแทนภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 23 วรรคสอง เป็นการมิชอบและกรณีไม่ใช่เรื่องการชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นตามมาตรา 26 วรรคสาม หรือการจ่ายค่าทดแทนล่าช้าตามมาตรา 28 และมาตรา 33 การคำนวณดอกเบี้ยในค่าทดแทนตามมาตราดังกล่าวจึงไม่อาจนำมาปรับในค่าทดแทนในกรณีนี้ได้ และเมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายโดยเฉพาะ โจทก์ก็ชอบที่จะได้ดอกเบี้ยในค่าทดแทนที่ยังมิได้รับชำระในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 และเมื่อศาลชั้นต้นกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยได้มีกำหนด 10 ปีนับแต่วันฟ้องย้อนขึ้นไป จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์เฉพาะในส่วนนี้ ศาลฎีกาจึงไม่มีเหตุจะแก้ไข
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ จำเลยที่ ๑ เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ว่าราชการของจำเลยที่ ๑ และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๘๘ ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๑๕ ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๓๖ตำบลรองเมือง (ปทุมวัน) อำเภอปทุมวัน (สามเพ็ง) กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ ซึ่งได้รับมรดกมาจากคุณหญิงเนื่อง บุรีนวราษฎร์ มารดา และได้ถูกเวนคืนโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวบางส่วน เนื้อที่ ๒๔๐ ตารางวาเฉพาะส่วนที่ถูกเวนคืนและแบ่งแยกออกไปแล้ว ตามโฉนดเลขที่ ๗๓๐๓ และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ว่านี้ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๑๕ มีผลใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป ทั้งให้มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งออกตามความในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหา-ริมทรัพย์ พ.ศ.๒๔๙๗ กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ต้องเวนคืนให้ตกเป็นของเจ้าหน้าที่เวนคืน และจำเลยที่ ๑ ได้เข้าครอบครองทำถนนเป็นทางสาธารณะแล้วโดยไม่ได้ทำความตกลงในเรื่องเงินค่าทดแทนกับผู้มีสิทธิแต่ประการใด ต่อมาหัวหน้าคณะปฏิวัติได้มีคำสั่งที่ ๗๖/๒๕๑๕ ตั้งกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ขึ้นชุดหนึ่ง แต่ก็มิได้ทำความตกลงใด ๆ กับผู้มีสิทธิในเรื่องเงินค่าทดแทนที่ดิน หม่อมเสมอได้เรียกร้องค่าทดแทนหลายครั้ง จำเลยทั้งสองโดยผู้อำนวยการสำนักการโยธาจึงได้มีหนังสือแจ้งว่าจำเลยที่ ๑ ได้ขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับ หากได้รับก็จะทำความตกลงกับผู้มีส่วนได้เสียต่อไป หม่อมเสมอได้ถึงแก่กรรมไปเสียก่อน เงินค่าทดแทนจึงตกเป็นมรดกแก่โจทก์ทั้งสี่ และที่ดินดังกล่าวอยู่ในที่ชุมนุมมีถนนซอยติดต่อกับถนนพระรามสี่ และถนนรองเมือง ๒ สาย ใน พ.ศ.๒๕๑๐ จำเลยเคยให้ค่าทดแทนที่ดินของคุณหญิงเจือซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของหม่อมเสมอ ราคาตารางวาละ ๒,๕๐๐ บาท ใน พ.ศ.๒๕๑๕ ซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๘๘ ใช้บังคับ ราคาซื้อขายตามธรรมดาสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ เป็นตารางวาละ๕,๐๐๐ บาท และตั้งวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๐ สำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินประเมินไว้ตารางวาละ ๑๕,๐๐๐ บาท แต่โจทก์ทั้งสี่ขอคิดค่าทดแทนตารางวาละ ๕,๐๐๐ บาท เนื้อที่ ๒๔๐ ตารางวา เป็นเงิน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๕ ถึงวันฟ้องเป็นเวลา๑๔ ปี เป็นเงินดอกเบี้ย ๑,๒๖๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทั้งสี่บอกกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนจำนวน ๒,๔๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท ตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๘๘ ข้อ ๓ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๔๙๗มาตรา ๑๐ บัญญัติว่าเจ้าหน้าที่จะมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อได้ใช้เงินหรือวางเงินค่าทดแทนแล้ว แต่คดีนี้จำเลยทั้งสองยังมิได้เข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ เนื่องจากยังมิได้รับเงินงบประมาณจากรัฐบาล สิทธิครอบครองทรัพย์สินยังเป็นของโจทก์ทั้งสี่อยู่ โจทก์ไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ และจำเลยที่ ๑ มิได้เป็นผู้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ เป็นแต่เพียงหน่วยงานดำเนินการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๘๘ เท่านั้น จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ ๒ มิได้กระทำการในฐานะส่วนตัว ทั้งเพิ่งมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการของจำเลยที่ ๑ ในพ.ศ.๒๕๒๙ มิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน๒๕๒๙ ให้โอนอสังหาริมทรัพย์ของกระทรวงมหาดไทยซึ่งได้มาตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๘๘ ให้แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ฉะนั้น หน้าที่ในการดำเนินการจึงมิได้ตกอยู่แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่และค่าทดแทนตารางวาละ๕,๐๐๐ บาท นั้นสูงเกินไป เพราะราคาปานกลางของที่ดิน เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ใน พ.ศ.๒๕๑๕ มีราคาตารางวาละไม่เกิน ๒,๕๐๐ บาท และดอกเบี้ยที่โจทก์ทั้งสี่คิดก็ไม่ถูกต้อง เพราะเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ยังมิได้กำหนดค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓๐ โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์ทั้งสี่จำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยให้นับแต่วันฟ้องย้อนขึ้นไปมีกำหนด ๑๐ ปี ให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินที่ถูกเวนคืนประมาณ ๒๔๐ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๑และให้จำเลยที่ ๑ ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นข้อที่ให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินที่ถูกเวนคืนประมาณ ๒๔๐ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๑ เสีย และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับแก่กันทั้งสองฝ่าย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ ๑ ข้อแรกว่า เมื่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๘๘ ข้อ ๑ ระบุใจความว่า ให้เวนคืนที่ดินพิพาทตำบลรองเมือง อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ให้แก่กระทรวงมหาดไทย และข้อ ๒ ระบุให้จำเลยที่ ๒ เป็นเพียงหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการเวนคืนที่ดินพิพาท โจทก์จะมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ หรือไม่ในข้อนี้ได้ความจากนายขรรค์ชัย นพแก้ว ซึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ ถึง พ.ศ.๒๕๑๗ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกสำรวจ กองรังวัดและที่ดินของจำเลยที่ ๑ และเป็นพยานจำเลยที่ ๑ ว่า เมื่อพ.ศ.๒๕๑๐ ได้เกิดเพลิงไหม้ที่ตรอกสลักหิน กองผังเมือง หน่วยงานของจำเลยที่ ๑ จึงได้ทำการสำรวจพื้นที่และเสนอออกกฎหมายเพื่อเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าว เพื่อประโยชน์แก่กรุงเทพมหานครโดยใช้สร้างถนนและบริเวณที่จอดรถ ต่อมาจึงได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๘๘ ดังกล่าว เห็นว่า นอกจากประกาศของคณะปฏิวัติ ข้อ ๒ ระบุว่า นายกเทศมนตรี-เทศบาลนครหลวง ขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์แล้วตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ หัวหน้าแผนกพิจารณาอุทธรณ์และคำร้อง กองกฎหมายและคดี หัวหน้าแผนกสำรวจกองรังวัดและที่ดิน ฝ่ายการโยธาของเทศบาลนครหลวง หรือของจำเลยที่ ๑ ในปัจจุบันยังเป็นกรรมการเวนคืนที่ดินพิพาทเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ ๑ และยังมีประกาศของจำเลยที่ ๑ ให้เจ้าของที่ดินยื่นคำขอรับเงินค่าทดแทนจากคณะกรรมการเวนคืนอีกด้วยนอกจากนั้นประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๘๘ ข้อ ๓ ก็ให้ถือว่าประกาศของคณะปฏิวัติมีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามความในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๔๙๗ และพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา ๑๐ บัญญัติว่า นับตั้งแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัติในมาตรา ๘ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นตกมาเป็นของเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่จะมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อใช้เงินหรือวางเงินค่าทดแทนแล้ว แสดงความมุ่งหมายของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๘๘ ว่า การเวนคืนที่ดินพิพาทก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย เมื่อปรากฏจากคำพยานโจทก์ จำเลย และรายงานการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๐ ว่า เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ จำเลยที่ ๑ ได้เข้าไปครอบครองทำถนนคอนกรีตบางตอนราดยางกว้าง ๙.๘๐ เมตรยาว ๗๒.๒๐ เมตร โดยไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่หม่อมเสมอ สวัสดิวัฒน์ เจ้าของที่ดินพิพาทขณะนั้นตามประกาศของคณะปฏิวัติแต่อย่างใด และเมื่อหม่อมเสมอได้ทวงถามตามหนังสือเอกสารหมาย จ.๑๐, จ.๑๑, จ.๑๓ กลับมีหนังสือตอบตามเอกสารหมาย จ.๒,จ.๙ ผัดผ่อนเรื่อยมา โดยไม่ได้โต้แย้งให้ทวงถามค่าทดแทนจากบุคคลอื่นแต่อย่างใด โจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกจากหม่อมเสมอจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ ๑ ได้จำเลยที่ ๑ ไม่อาจยกเหตุที่ไม่ได้งบประมาณจากรัฐบาลเป็นข้อแก้ตัวได้
ข้อที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๙ให้โอนอสังหาริมทรัพย์รวมทั้งที่ดินพิพาทไปให้การทางพิเศษแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดินพิพาท แม้จะฟังว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้โอนสิทธิในที่ดินพิพาทไปให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยภายหลัง ก็หาทำให้โจทก์สิ้นสิทธิเรียกค่าทดแทนซึ่งมีอยู่เดิมแล้วแต่อย่างใดไม่ทั้งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวก็ไม่ใช่กฎหมายที่จะลบล้างประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๘๘ซึ่งมีผลเป็นกฎหมายอีกด้วย
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาในเรื่องดอกเบี้ยว่า กฎหมายกำหนดดอกเบี้ยค่าทดแทนไว้โดยเฉพาะแล้วตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓๐และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๕๓๐ มาตรา ๒๖, ๓๓ จะคำนวณดอกเบี้ยในเงินค่าทดแทนอย่างมูลละเมิดไม่ได้นั้น เมื่อคดีฟังได้ว่าคณะกรรมการเวนคืนอสังหา-ริมทรัพย์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๘๘ ยังมิได้จ่ายเงินค่าทดแทนในการเวนคืนที่ดินพิพาทให้หม่อมเสมอหรือทายาท และหม่อมเสมอหรือทายาทมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ เพื่อเรียกค่าทดแทนแล้ว กรณีต้องด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.๒๕๓๐ มาตรา ๓๖วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “การเวนคืนและการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้…” ซึ่งเมื่อกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ยังมิได้กำหนดค่าทดแทนภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๒๓ วรรคสองเป็นการมิชอบ และกรณีไม่ใช่เรื่องการชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ตามมาตรา ๒๖ วรรคสามหรือการจ่ายค่าทดแทนล่าช้า ตามมาตรา ๒๘ และมาตรา ๓๓ การคำนวณดอกเบี้ยในค่าทดแทนตามมาตราดังกล่าวจึงไม่อาจนำมาปรับในค่าทดแทนกรณีนี้ได้ และเมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายโดยเฉพาะ โจทก์ก็ชอบที่จะได้ดอกเบี้ยในค่าทดแทนที่ยังมิได้รับชำระในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ และเมื่อศาลชั้นต้นกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยได้มีกำหนด ๑๐ ปี นับแต่วันฟ้องย้อนขึ้นไป จำเลยที่ ๑ มิได้อุทธรณ์เฉพาะในส่วนนี้ศาลฎีกาจึงไม่มีเหตุจะแก้ไข ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ชอบแล้ว
พิพากษายืน.