คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1849/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับของสหกรณ์จำเลยระบุว่า สหกรณ์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันเกี่ยวกับการจัดให้ได้มาซึ่งที่ดินทำกิน ให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรวมทั้งวัตถุประสงค์ครอบครองและจัดสรรที่ดินให้แก่สมาชิกใช้เป็นที่อยู่อาศัยประกอบอาชีพเป็นของตนเอง เห็นได้ว่าผู้มีสิทธิเช่าที่ดินจากจำเลยจะต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์จำเลยเท่านั้น ส่วนข้อบังคับที่ระบุว่า การโอนสิทธิและผลประโยชน์สิทธิและผลประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดของสมาชิกอันมีอยู่เกี่ยวกับที่ดินที่ตนครอบครองจะโอนไปยังผู้ใดมิได้ เว้นแต่จะโอนให้ทายาทหรือโอนโดยทางมรดกนั้น หากสมาชิกของจำเลยผู้เช่าที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพจากจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธิการเช่าของผู้ตายเป็นมรดกตกทอดให้แก่ทายาทได้ แต่ทั้งนี้ทายาทผู้ตายต้องมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกตามข้อบังคับข้อ 46 (1) ถึง (10) ด้วย อีกทั้งต้องผ่านการพิจารณารับสมาชิกจากคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์จำเลยเสียก่อน ตามข้อบังคับ ข้อ 84 (1) เมื่อ ช. ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ช. ได้ขอเป็นสมาชิกของจำเลยแล้ว แต่คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์จำเลยไม่รับโจทก์ทั้งสามเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของจำเลย โจทก์ทั้งสามชอบที่จะดำเนินการตามข้อบังคับของสหกรณ์จำเลย ข้อ 47 วรรคท้าย ที่กำหนดว่า ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่ยอมรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วยเหตุใด ๆ ผู้สมัครอาจร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินการนำเรื่องเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด มติแห่งที่ประชุมใหญ่ให้รับเข้าเป็นสมาชิกในกรณีดังว่านี้ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนสมาชิกที่มาประชุม โจทก์ทั้งสามจะต้องร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินการนำเรื่องที่ไม่ยอมรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป แต่โจทก์ทั้งสามมิได้ดำเนินการเช่นว่านั้นเสียก่อน การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนตามที่ข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวระบุไว้ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนมติที่ประชุมที่ลงมติให้นางสาววันณีได้สิทธิและผลประโยชน์ในการเช่าที่ดินทางทิศใต้ของนายเชื่อม มติที่ให้นางสาววันณีโอนสิทธิการเช่าผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวให้นายสันติ และมติที่ให้นายอุทัยและนางสาววันณีได้สิทธิการเช่าที่ดินของนายเชื่อมทางทิศเหนือในที่ดินโฉนดเลขที่ 9112 ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม กับรับโจทก์ทั้งสามเข้าเป็นสมาชิกของจำเลย และให้โจทก์ทั้งสามได้เช่าที่ดินดังกล่าว หากจำเลยไม่ดำเนินการก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยชำระเงินค่าขาดประโยชน์เป็นรายปี ปีละ 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเพิกถอนมติและให้โจทก์ทั้งสามเช่าที่ดินดังกล่าว
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า นายเชื่อมและนางทองหยิบอยู่กินฉันสามีภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของนายเชื่อมกับนางทองหยิบ เดิมนายเชื่อมเป็นสมาชิกของจำเลยและเป็นผู้มีสิทธิการเช่าที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมในที่ดินโฉนดเลขที่ 9112 ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ จากจำเลย ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 นายเชื่อมถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อบังคับของจำเลยฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2557 ข้อ 2 ระบุว่า “วัตถุประสงค์สหกรณ์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกันช่วยเหลือซึ่งกันและกันเกี่ยวกับการจัดให้ได้มาซึ่งที่ดินทำกิน ให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งรวมทั้งวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (1) ครอบครองและจัดสรรที่ดินให้แก่สมาชิกใช้เป็นที่อยู่อาศัยประกอบอาชีพเป็นของตนเอง…” จะเห็นได้ว่าผู้มีสิทธิเช่าที่ดินจากจำเลยจะต้องเป็นสมาชิกของจำเลยเท่านั้น ส่วนข้อบังคับข้อ 21 วรรคแรก ระบุว่า “การโอนสิทธิและผลประโยชน์สิทธิและผลประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดของสมาชิกอันมีอยู่เกี่ยวกับที่ดินที่ตนครอบครองจะโอนไปยังผู้ใดมิได้ เว้นแต่จะโอนให้ทายาทหรือโอนโดยทางมรดก” นั่นคือ หากสมาชิกของจำเลยผู้เช่าที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพจากจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธิการเช่าของผู้ตายเป็นมรดกตกทอดให้แก่ทายาทได้ แต่ทั้งนี้ทายาทผู้ตายต้องมีคุณสมบัติเป็นสมาชิกตามข้อบังคับข้อ 46 (1) ถึง (10) ด้วย อีกทั้งต้องผ่านการพิจารณารับสมาชิกจากคณะกรรมการดำเนินการของจำเลยเสียก่อน ตามข้อบังคับ ข้อ 84 (1) ส่วนกรณีของโจทก์ทั้งสามนั้น เมื่อนายเชื่อมถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสามได้ดำเนินการขอเป็นสมาชิกของจำเลยแล้ว แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการดำเนินการของจำเลยพิจารณาคำขอของโจทก์ทั้งสามแล้วไม่รับโจทก์ทั้งสามเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของจำเลย ดังนั้น โจทก์ทั้งสามชอบที่จะดำเนินการตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ 47 วรรคท้าย ที่กำหนดว่า “ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่ยอมรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วยเหตุใด ๆ ผู้สมัครอาจร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินการนำเรื่องเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด มติแห่งที่ประชุมใหญ่ให้รับเข้าเป็นสมาชิกในกรณีดังว่านี้ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนสมาชิกที่มาประชุม” ตามข้อบังคับดังกล่าวนี้โจทก์ทั้งสามจะต้องร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินการนำเรื่องที่ไม่ยอมรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป แต่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามมิได้ดำเนินการเช่นว่านั้นเสียก่อน การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนตามที่ข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวระบุไว้ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องและไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share