แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 88, 89 วรรคหนึ่ง และ 95 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดแล้วว่า สหภาพแรงงานมี 2 ประเภท คือ 1. สหภาพแรงงานประเภทที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือผู้เริ่มก่อการเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน โดยสมาชิกของสหภาพแรงงานประเภทนี้ก็จะต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน และ 2. สหภาพแรงงานประเภทที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือผู้เริ่มก่อการเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันโดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน โดยสมาชิกของสหภาพแรงงานประเภทนี้ก็จะต้องเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานโดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน เมื่อโจทก์เป็นสหภาพแรงงานประเภทที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือผู้เริ่มก่อการเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกัน ดังนั้นคุณสมบัติของสมาชิกโจทก์ก็ต้องเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน และเมื่อโจทก์ยอมรับว่ากิจการที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นกิจการคนละประเภทกับที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานโจทก์ขอจดทะเบียนไว้ การที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ข้อ 6 ซึ่งกำหนดว่า “สมาชิกของสหภาพแรงงานต้องมีคุณสมบัติเป็นลูกจ้างของนายจ้างที่ประกอบกิจการผลิตและ/หรือประกอบชิ้นส่วนยานยนต์” เป็นว่า “สมาชิกของสหภาพแรงงานต้องมีคุณสมบัติเป็นลูกจ้างของนายจ้างที่ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หรือชิ้นส่วนโลหะ” จึงขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสองและมีคำสั่งให้รับจดทะเบียนข้อบังคับ ข้อ 6 ของโจทก์ หากไม่สามารถทำได้ให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานภาค 2 คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า บริษัทเอ็น เอช เค สปริง (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ นายปรุงกับพวกรวม 9 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทยื่นคำขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานพร้อมข้อบังคับต่อนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนประจำจังหวัดสมุทรปราการ นายทะเบียนรับจดทะเบียนเป็นสหภาพแรงงานโจทก์ ชื่อ “สหภาพแรงงานเอ็น เอช เค สปริง แห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2522 ต่อมาโจทก์ขอโอนทะเบียนมาขึ้นต่อนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา นายทะเบียนรับโอนทะเบียนเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2547 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ประชุมใหญ่ของโจทก์มีมติให้แก้ไขข้อบังคับ ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 6 ข้อ 25 และข้อ 38 วันที่ 10 มีนาคม 2551 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ตรวจสอบแล้วเห็นว่า ข้อบังคับที่ขอแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 25 และข้อ 38 ไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงได้รับจดทะเบียนไว้ตามใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ซึ่งโจทก์เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย” ส่วนข้อ 6 ที่โจทก์ขอแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของสมาชิกนั้น จำเลยที่ 2 เห็นว่า เป็นการกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 95 ประกอบมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จึงมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ การจัดประเภทกิจการนั้นจำเลยทั้งสองพิจารณาตามเอกสารการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) ปี 2544 โจทก์มอบอำนาจให้นายลาเร่ฟ้องคดีนี้ตามบันทึกการประชุมใหญ่ บันทึกการประชุมวาระพิเศษและหนังสือมอบอำนาจ นายทะเบียนสำนักงานทะเบียนประจำจังหวัดสมุทรปราการรับจดทะเบียนข้อบังคับของสหภาพแรงงานโตโยต้าประเทศไทยและสหภาพแรงงานนิสสันประเทศไทยตามข้อบังคับ แล้วคู่ความไม่ประสงค์จะสืบพยานเพิ่มเติม
ศาลแรงงานภาค 2 พิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงตามคำรับของคู่ความแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นสหภาพแรงงานประเภทที่ผู้จัดตั้งและสมาชิกเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกัน สมาชิกของโจทก์จึงต้องเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานตามมาตรา 88 และ 95 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เมื่อนายปรุงกับพวก ซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานโจทก์ เป็นลูกจ้างของบริษัทเอ็น เอช เค สปริง (ประเทศไทย) จำกัด และขณะขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานโจทก์บริษัทประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ดังนั้นสมาชิกของโจทก์จึงต้องเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เท่านั้น โจทก์ยอมรับตามคำฟ้องและหนังสือขออุทธรณ์ว่า เหตุผลที่โจทก์ขอแก้ไขข้อบังคับ ข้อ 6 เนื่องจากนายจ้างขยายกิจการไปสู่หลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประเภทชิ้นส่วน ฮาร์ดดิสก์, ชิ้นส่วนเครื่องเล่น MP3, iPOD ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโลหะ แสดงว่ากิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะเป็นคนละประเภทกิจการกัน การที่โจทก์กำหนดเพิ่มประเภทกิจการอื่นไปด้วยจึงเป็นการกำหนดโดยมีเจตนาให้มีการรับสมาชิกในกิจการที่มีประเภทแตกต่างกันไปจากกิจการที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานเป็นลูกจ้างอยู่ อันเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้สหภาพแรงงานมีรูปแบบแตกต่างไปจากรูปแบบที่กฎหมายอนุญาตให้ลูกจ้างจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงาน จึงเป็นการแก้ไขที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 95 ประกอบมาตรา 88 หากลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทที่ต่างกันประสงค์จะแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและระหว่างลูกจ้างด้วยกัน ก็สามารถจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานในกิจการอีกประเภทหนึ่งได้ แล้วร่วมกับโจทก์จัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างตามมาตรา 120 ซึ่งกำหนดให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสหภาพแรงงานในหมวด 7 และสหพันธ์แรงงานในหมวด 8 มาใช้บังคับแก่สภาองค์การลูกจ้างโดยอนุโลม และสามารถกระทำกิจกรรมได้เช่นเดียวกันกับสหภาพแรงงาน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลแต่อย่างใด ส่วนการที่นายทะเบียนสำนักงานทะเบียนประจำจังหวัดสมุทรปราการรับจดทะเบียนข้อบังคับให้แก่สหภาพแรงงานนิสสันประเทศไทยและสหภาพแรงงานโตโยต้าประเทศไทย โดยมีการกำหนดคุณสมบัติในการรับสมาชิกที่กว้างกว่าข้อบังคับของโจทก์ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้น คุณสมบัติของสมาชิกแต่ละสหภาพแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงของแต่ละสหภาพเป็นราย ๆ ไป เนื่องจากเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวไม่สามารถนำมาพิจารณารวมกันได้ คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยทั้งสองไม่รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ข้อ 6 ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์โดยสรุปว่า การพิจารณาว่ากิจการใดเป็นกิจการประเภทเดียวกันนั้น ต้องพิจารณาว่ากิจการนั้นเป็นกิจการเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานในช่วงก่อตั้งเท่านั้น ถ้าจะต้องพิจารณายึดถือว่าเป็นประเภทนั้นตลอดไปน่าจะเป็นการตีความแคบเกินไปและเป็นปัญหาในทางปฏิบัติเพราะนายจ้างสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประกอบการได้เพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ หากนายจ้างให้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไปทำงานในประเภทผลิตภัณฑ์ใหม่ ลูกจ้างจึงไม่น่าจะเสียสิทธิในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเดิม การที่โจทก์ขอแก้ไขข้อบังคับ ข้อ 6 ก็เพื่อให้ครอบคลุมสมาชิกเดิมของโจทก์เท่านั้น การที่สหภาพแรงงานจะมีความเข้มแข็งมีอำนาจต่อรองคุ้มครองสมาชิกได้ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้ความสามารถของกรรมการบริหารด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลโดยไม่มีเหตุสมควร เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 88 บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน หรือเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันโดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน บรรลุนิติภาวะและมีสัญชาติไทย” มาตรา 89 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานนั้น ให้ลูกจ้างผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานจำนวนไม่น้อยกว่าสิบคนเป็นผู้เริ่มก่อการ ยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อนายทะเบียน พร้อมด้วยร่างข้อบังคับของสหภาพแรงงานอย่างน้อยสามฉบับ” และมาตรา 95 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานได้จะต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน และมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป” บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า สหภาพแรงงานมี 2 ประเภท คือ 1. สหภาพแรงงานประเภทที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือผู้เริ่มก่อการเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน โดยสมาชิกของสหภาพแรงงานประเภทนี้ก็จะต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน 2. สหภาพแรงงานประเภทที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือผู้เริ่มก่อการเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันโดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน โดยสมาชิกของสหภาพแรงงานประเภทนี้ก็จะต้องเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานโดยไม่คำนึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน โจทก์เป็นสหภาพแรงงานประเภทที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือผู้เริ่มก่อการเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกัน ดังนั้นคุณสมบัติของสมาชิกโจทก์ก็ต้องเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน จึงไม่อาจตีความบทบัญญัติกฎหมายไปในทางที่โจทก์อุทธรณ์ได้ เมื่อโจทก์ยอมรับว่ากิจการที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นกิจการคนละประเภทกับที่ผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานโจทก์ขอจดทะเบียนไว้ โจทก์ไม่อาจขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ข้อ 6 ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวได้ การที่จำเลยทั้งสองไม่รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ข้อ 6 ของโจทก์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วและมิได้เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลแต่ประการใด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน