คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 959/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นในเรื่องการกำหนดประเด็นและหน้าที่นำสืบ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาในวันชี้สองสถานว่าคู่ความสละข้อหาหรือข้อต่อสู้อื่นทั้งหมด คงมีประเด็นพิพาทเพียง 2 ข้อคือพินัยกรรมปลอมหรือไม่และพินัยกรรมครอบคลุมถึงทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจากทรัพย์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือไม่ หลังจากไปตรวจที่พิพาทแล้วศาลชั้นต้นกำหนดหน้าที่นำสืบให้จำเลยนำสืบก่อน ต่อมาจำเลยยื่นคำแถลงว่าในวันตรวจที่พิพาท จำเลยได้คัดค้านคำสั่งศาลด้วยวาจาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลสั่งด้วยวาจาว่าให้แถลงคัดค้านเข้ามาจำเลยจึงยื่นคำแถลงอธิบายความหมายตามที่จำเลยแถลง ศาลชั้นต้นสั่งสำเนาให้โจทก์ร่วม ดังนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 26 กำหนดว่าถ้าศาลได้ออกคำสั่งหรือคำชี้ขาดเกี่ยวกับการการดำเนินคดี คู่ความคัดค้านว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อนที่ศาลจะดำเนินคดีต่อไปให้ศาลจดคำสั่งหรือคำชี้ขาดนั้นและสภาพแห่งการคัดค้านนั้นไว้ในรายงานเมื่อตามสำนวนไม่ปรากฏว่าจำเลยคัดค้านคำสั่งหรือคำชี้ขาดข้อใดจึงไม่มีข้อคัดค้านศาลชั้นต้นที่ศาลฎีกาจะพิจารณาตามฎีกาของจำเลย
การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยนำสืบก่อนและโจทก์จำเลยสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว แม้จะเป็นการชอบหรือไม่ก็ตามถ้าไม่ทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไปก็ไม่มีเหตุที่ศาลสูงจะสั่งแก้ไข

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางประยูร คเชนทร์ชัย ได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์ทั้งหมดให้โจทก์ คือ บ้านพร้อมกับที่ดิน นางประยูรตาย โจทก์ไปยื่นเรื่องราวของรับมรดกที่ดิน ก่อนครบกำหนด 60 วัน ตามประกาศเรื่องราวการรับมรดก จำเลยไม่ใช่ทายาทนางประยูรทราบเรื่องดีอยู่แล้ว กลับไปร้องต่อศาลจังหวัดนครปฐม และศาลจังหวัดนครปฐมได้สั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางประยูร จำเลยเอาคำสั่งของศาลนั้นมาขอรับมรดกที่ดินในฐานะผู้จัดการมรดกและคัดค้านการขอรับมรดกของโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลจังหวัดนครปฐม ที่ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากใบไต่สวนที่ดินแล้วใส่ชื่อโจทก์แทน ห้ามจำเลยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการจัดการมรดกของนายประยูร

จำเลยให้การว่า ฟ้องเคลือบคลุมและบิดเบือนความจริง จำเลยเป็นทายาทนางประยูร นางประยูรจะยกที่ดินนั้นให้จำเลยแต่ตายเสียก่อน พินัยกรรมที่โจทก์อ้างไม่เป็นเอกสารแท้จริง ไม่สมบูรณ์และเป็นโมฆะ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาประสงค์จะให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นในเรื่องการกำหนดประเด็นและหน้าที่นำสืบ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 11 กันยายน 2516 ว่า คู่ความสละข้อหาและข้อต่อสู้อื่น ๆ ทั้งหมดคงมีข้อพิพาทเพียง 2 ประเด็น คือ พินัยกรรมปลอมหรือไม่ และพินัยกรรมครอบคลุมไปถึงทรัพย์อย่างอื่นนอกจากทรัพย์ที่ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือไม่ ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2516 หลังจากไปตรวจที่พิพาทแล้ว ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยนำสืบก่อน วันที่ 11 ธันวาคม 2516 จำเลยยื่นคำแถลงอ้างว่าเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2516 จำเลยได้แถลงคัดค้านคำสั่งด้วยวาจาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลสั่งด้วยวาจาว่าให้แถลงคัดค้านเข้ามา จำเลยจึงยื่นคำแถลงอธิบายความหมายตามที่จำเลยแถลงและ ขอให้ศาลสั่งว่ารายงานกระบวนพิจารณามีความหมายตามเจตนารมย์ของจำเลยหรือหาไม่และกำหนดหน้าที่นำสืบใหม่ ศาลชั้นต้นสั่งว่าสำเนาให้โจทก์ รวมหลังจากนั้นคู่ความและศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาเรื่อยมาจนเสร็จการพิจารณาแล้วพิพากษาศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 26 ถ้าศาลได้ตั้งข้อถามหรือออกคำสั่งหรือชี้ขาดเกี่ยวด้วยการดำเนินคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีเรื่องนั้นคัดค้านข้อถามหรือคำสั่งหรือคำชี้ขาดนั้นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อนที่ศาลจะดำเนินคีดต่อไปให้ศาลจดข้อถามหรือคำสั่งหรือคำชี้ขาดที่ถูกคัดค้านและสภาพแห่งการคัดค้านลงไว้ในรายงาน ส่วนเหตุที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างอิงนั้นให้ศาลใช้ดุลพินิจจดลงไว้ในรายงานหรือกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่คัดค้านยื่นคำแถลงเป็นหนังสือเพื่อรวมไว้ในสำนวน แต่ตามสำนวนไม่ปรากฏว่าศาลได้จดไว้ว่าจำเลยคัดค้านข้อถามหรือคำสั่งหรือคำชี้ขาดใด มีแต่ข้อกล่าวอ้างในคำแถลงของจำเลยลงวันที่ 11ธันวาคม 2516 จึงไม่มีข้อคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ศาลฎีกาจะพิจารณาตามฎีกาของจำเลย แม้จะถือว่าคำแถลงของจำเลยลงวันที่ 11 ธันวาคม 2516 เป็นคำแถลงคัดค้านเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นว่าคำแถลงของคู่ความเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้นมีความชัดอยู่แล้วไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอน ส่วนเรื่องหน้าที่นำสืบก่อนก็เห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่าการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยนำสืบก่อนและโจทก์จำเลยได้สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว แม้จะเป็นการชอบหรือไม่ก็ตามถ้าไม่ทำให้การวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ก็ไม่มีเหตุที่จะให้แก้ไข ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลย เป็นการฎีกานอกประเด็นและฎีกาในประเด็นที่จำเลยสละแล้ว ต้องห้ามฎีกา

พิพากษายืน

Share