แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขอคืนของกลางตามพระราชบัญญัติป่าไม้ในกรณีที่พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลไม่พิพากษาให้ริบนั้น ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองขอคืนได้ภายใน 6 เดือนนับแต่วันทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 64 ทวิ วรรคสอง ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 มาตรา 26แต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ริบตามมาตรา 74 และ 74ทวิ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้นั้นมิได้บัญญัติเรื่องการขอคืนของกลางไว้ในที่ใดในพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงต้องใช้บทบัญญัติทั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ประกอบด้วยมาตรา 17บุคคลภายนอกผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกริบมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดย่อมจะร้องขอต่อศาลให้สั่งคืนของกลางแก่ตนได้
ย่อยาว
เดิมศาลพิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้งสองและสั่งริบของกลางซึ่งรวมทั้งรถยนต์บรรทุกทะเบียน กท.01146 คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องว่ารถยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้องซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิด ขอให้ศาลสั่งคืนแก่ตน
โจทก์คัดค้านว่าพระราชบัญญัติป่าไม้เป็นกฎหมายพิเศษ ในกรณีที่ศาลสั่งริบของกลาง เจ้าของย่อมขอคืนไม่ได้ เพราะไม่เข้าตามเงื่อนไขในมาตรา 64 ตรี ขอศาลได้สั่งคืนของกลาง
ในวันนัดไต่สวน โจทก์รับว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลย แต่เห็นว่าเมื่อศาลสั่งริบของกลางตามพระราชบัญญัติป่าไม้แล้ว ศาลจะสั่งคืนตามประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ ขอให้ศาลชี้ขาดข้อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นสั่งงดไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 ได้วางหลักเรื่องการยึด ริบ และการขอคืนของกลางไว้แล้วจะนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 มาใช้บังคับไม่ได้ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามมาตรา 74 และ 74 ทวิแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ ไม่มีความมุ่งหมายที่จะลงโทษบุคคลอื่นที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิด เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของมาขอคืน หากไม่คืนให้ก็เท่ากับลงโทษแก่ผู้ร้องโดยที่ผู้ร้องมิได้กระทำผิดหรือรู้เห็นด้วย เป็นการขัดต่อการลงโทษ ผู้ร้องจึงขอคืนได้ พิพากษากลับให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว
ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังได้เป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน กท.01146 ของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบ และผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลย มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า ศาลจะสั่งคืนของกลางนี้ให้แก่ผู้ร้องได้หรือไม่
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว การขอรับคืนของกลางตามพระราชบัญญัติป่าไม้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 64 ทวิ วรรคสองซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 26ว่า “ทรัพย์ที่ยึดไว้ตามวรรคหนึ่ง ถ้าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลไม่พิพากษาให้ริบ และผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันทราบ หรือถือว่าได้ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี ให้ตกเป็นของกรมป่าไม้” ตามนี้กฎหมายบัญญัติแต่ในกรณีที่พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี กับกรณีที่ศาลไม่พิพากษาให้ริบ กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองต้องร้องขอรับคืนภายในกำหนดหกเดือน มิฉะนั้นให้ตกเป็นของกรมป่าไม้ และตามมาตรา 64 ตรี เป็นเรื่องคืนของกลางที่มิใช่เป็นของผู้กระทำความผิด หรือของผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้กระทำความผิดก่อนถึงกำหนดตามมาตรา 64 ทวิ แต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ริบตามมาตรา 74 มาตรา 74 ทวิอย่างในคดีนี้ไม่ได้มีบัญญัติเรื่องขอคืนของกลางไว้ในที่ใดพระราชบัญญัติป่าไม้ จึงต้องใช้บทบัญญัติทั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36ประกอบด้วยมาตรา 17 ผู้ร้องในคดีนี้เป็นบุคคลภายนอกไม่มีโอกาสต่อสู้คดีกับโจทก์ ฉะนั้นผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของย่อมใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 ที่จะร้องขอให้ศาลสั่งคืนของกลางแก่ผู้ร้องได้ และเมื่อคดีได้ความว่าผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยศาลก็ต้องสั่งคืนของกลางนั้นให้แก่ผู้ร้องศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน