แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 ข้อ 2 มีความมุ่งหมายว่า ไม่ประสงค์จะให้คุมบุคคลไว้ตลอดไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาจึงกำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาและมีคำสั่งทุกระยะ 3 เดือนว่าให้ควบคุมต่อไปหรือให้ปล่อยไปการที่คณะกรรมการมิได้พิจารณาและมีคำสั่งให้ควบคุมตัวนายปุ่นไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การควบคุมในช่วงระยะเวลานั้นจึงไม่ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวหากนายปุ่นหลบหนีการควบคุมในช่วงระยะเวลานั้นนายปุ่นก็ไม่มีความผิดฐานหลบหนีการควบคุม (อ้างนัยฎีกา 105/2506)แต่การที่คณะกรรมการไม่มีคำสั่งให้ทันเมื่อครบ 3 เดือน จนเวลาล่วงมาระยะหนึ่งดังกล่าว จึงได้พิจารณามีคำสั่งให้ควบคุมตัวนายปุ่นไว้ต่อไปเช่นนี้ไม่เป็นเหตุทำให้คำสั่งหลังๆ นั้นไม่ชอบด้วยประการใดเพราะตัวนายปุ่นก็ยังต้องควบคุมอยู่ตลอดมา เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาและมีคำสั่งตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 43 ข้อ 2 ให้ควบคุมไว้ต่อไป ก็ต้องถือว่านายปุ่นได้กลับถูกควบคุมไว้โดยชอบด้วยประกาศดังกล่าวอีกเมื่อนายปุ่นหลบหนีการควบคุมจำเลยซึ่งมีหน้าที่ควบคุมต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 205
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2506 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการเป็นหัวหน้าควบคุมบุคคลอันธพาลตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 และมีตำแหน่งหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องคุมขังตามอำนาจของพนักงานสอบสวนและของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนจำเลยได้กระทำการโดยประมาท ปล่อยให้พลตำรวจอุไร รับตัวนายปุ่น เภาทอง ผู้ต้องควบคุมตามประกาศดังกล่าวออกนอกบริเวณสถานที่ควบคุมโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายโดยจำเลยชะล่าใจว่าพลตำรวจอุไรจะควบคุมนายปุ่น เภาทอง ได้ และชะล่าใจว่านายปุ่น เภาทอง จะไม่หลบหนีพลตำรวจอุไรไป และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังได้โดยไม่ยอมอนุญาตและปล่อยนายปุ่น เภาทอง ให้ไปกับพลตำรวจอุไรแต่จำเลยมิได้กระทำ เป็นเหตุให้นายปุ่น เภาทองหลบหนีไปและไม่สามารถจับกุมมาได้ในกำหนด 3 เดือน ขอให้ลงโทษตามมาตรา 205
จำเลยให้การรับข้อเท็จจริงตามฟ้อง แต่ต่อสู้ข้อกฎหมายว่าคณะกรรมการที่มีอำนาจควบคุมบุคคลอันธพาลไม่ได้มีคำสั่งควบคุมตัวนายปุ่น เภาทอง ไว้ทุก 3 เดือน ตามคำสั่งของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 ฉะนั้น การที่นายปุ่น เภาทอง หลบหนีไป จึงไม่มีความผิด
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การควบคุมนายปุ่นได้ขาดตอนไปตั้งแต่วันที่11 กันยายน 2505 โดยมิได้มีคำสั่งของคณะกรรมการให้ควบคุมไว้คณะกรรมการจึงไม่มีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้ควบคุมตัวนายปุ่นไว้ได้อีกคำสั่งให้ควบคุมตัวในตอนหลังจึงไม่ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 การที่นายปุ่นหลบหนีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2506 จึงไม่เป็นการหลบหนีในระหว่างต้องคุมขังตามประกาศคณะปฏิวัติฯ แม้จำเลยกระทำโดยประมาท ก็ไม่ผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำสั่งฉบับหลัง ๆ ที่กรรมการมีคำสั่งให้ควบคุมต่อไปใช้บังคับได้ จำเลยมีหน้าที่ควบคุม ต้องมีความผิดพิพากษากลับ ลงโทษตามมาตรา 205 ลดโทษ 1 ใน 3 จำคุก 1 เดือน 10 วัน รอการลงโทษ 6 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลล่างทั้ง 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมมีคำสั่งตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 43 ข้อ 1 ให้ส่งตัวนายปุ่นซึ่งเป็นบุคคลอันธพาลไปเข้ารับการฝึกอาชีพเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2505 ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาปล่อยผู้รับการอบรมหรือให้ควบคุมไว้ (ส่วนจังหวัด) มีคำสั่งให้ควบคุมไว้ต่อไปเป็นครั้งที่ 2 นับแต่วันสั่ง คือวันที่ 11 มิถุนายน 2505 ครบ 3 เดือน วันที่ 11 กันยายน 2505 แต่ปรากฏว่าเมื่อครบ 3 เดือนแล้ว คณะกรรมการซึ่งมีอำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติฯ ไม่ได้มีคำสั่งประการใด ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2505 คณะกรรมการได้มีคำสั่งลงวันที่ 11 ตุลาคม 2505 ให้ควบคุมตัวนายปุ่นต่อไปเป็นครั้งที่ 3 กับครั้งต่อ ๆ ไป วันที่ 10 มกราคม 2506 6 กันยายน 2506 และ 10 ตุลาคม 2506 ตามลำดับและนายปุ่นได้หลบหนีไปจากการควบคุมของจำเลยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2506 ซึ่งอยู่ภายในระยะ 3 เดือน นับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำสั่งครั้งสุดท้าย ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43ข้อ 2 กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาและมีคำสั่งทุก ๆ 3 เดือน ว่าบุคคลที่ถูกควบคุมนั้น บุคคลใดควรให้ควบคุมไว้ต่อไป หรือให้ปล่อยตัวไปแสดงให้เห็นความมุ่งหมายว่า ไม่ประสงค์จะให้ควบคุมบุคคลเหล่านี้ไว้ตลอดไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา จึงกำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาและมีคำสั่งทุกระยะ 3 เดือนว่า ให้ควบคุมต่อไปหรือให้ปล่อยตัวไป จึงเห็นว่าการที่คณะกรรมการมิได้พิจารณาและมีคำสั่งให้ควบคุมตัวนายปุ่นไว้ต่อไปนับแต่วันที่ 11 กันยายน 2505 ถึง 10 ตุลาคม 2505 การควบคุมนายปุ่นไว้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว หากนายปุ่นจะหลบหนีการควบคุมไปในช่วงระยะเวลานี้ นายปุ่นก็ไม่มีความผิดฐานหลบหนีการควบคุมตามนัยฎีกาที่ 105/2506 แต่การควบคุมตัวนายปุ่น เภาทอง ในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 11 กันยายน 2515 ถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2505 ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำสั่งของคณะกรรมการให้ควบคุมในครั้งหลัง ๆ ต่อมา จะเป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่คณะกรรมการไม่มีคำสั่งให้ทันเมื่อครบ 3 เดือน จนเวลาล่วงมาระยะหนึ่ง จึงได้พิจารณามีคำสั่งให้ควบคุมไว้ต่อไปเช่นนี้ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้คำสั่งหลัง ๆ นั้นไม่ชอบด้วยประการใด เพราะนายปุ่น เภาทอง ก็ยังต้องควบคุมอยู่ตลอดมา เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาและมีคำสั่งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 ข้อ 2 ให้ควบคุมไว้ต่อไปแล้ว ก็ต้องถือว่านายปุ่น เภาทอง ได้กลับถูกควบคุมไว้โดยชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 43 อีกเมื่อนายปุ่น เภาทอง หลบหนีการควบคุมไป จำเลยมีหน้าที่ควบคุม จึงต้องมีความผิด ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว พิพากษายืน