คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1146/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้จำนวนหนึ่งอันเกิดจากมูลละเมิด ศาลชั้นต้นพิพากษาแบ่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ชำระครึ่งหนึ่งและจำเลยที่ 3 ที่ 4 ชำระอีกครึ่งหนึ่ง จึงไม่มีเหตุที่จะให้โจทก์ต้องอุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหายขึ้นมาอีก ดังนี้แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้เต็มจำนวนก็ถือได้ว่าปัญหาเรื่องค่าเสียหายเต็มจำนวนได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในชั้นศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยคนใดคนหนึ่งเท่านั้นที่ทำละเมิดต่อโจทก์ ก็ต้องให้ผู้นั้นรับผิดเต็มจำนวน จะแบ่งให้รับผิดเพียงบางส่วนหาชอบไม่ ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 เท่านั้นที่จะต้องรับผิด และพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงเฉพาะส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้รับผิด โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 เท่านั้นที่จะต้องรับผิด ศาลฎีกาก็มีอำนาจ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดต่อโจทก์เต็มตามมูลหนี้แห่งการละเมิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหกล้อและเป็นนายจ้างของนายพยุง ผู้ขับรถคันนี้ จำเลยที่ 2 รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อและเป็นนายจ้างของนายเกรียงศักดิ์ผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 4 รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยที่ 3นายพยุงและนายเกรียงศักดิ์ต่างขับรถยนต์คันดังกล่าวในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อพุ่งชนท้ายรถยนต์โดยสารของโจทก์ ทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหาย เสียค่าซ่อมกับค่าเสียหายต่าง ๆ รวมเป็นเงิน 223,900 บาท ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน 223,900 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 และที่ 2ให้การว่า นายเกรียงศักดิ์ขับรถยนต์บรรทุกด้วยความประมาทชนท้ายรถยนต์บรรทุกคันที่นายพยุงขับทำให้รถบรรทุกคันที่นายพยุงขับพุ่งชนท้ายรถยนต์โดยสารของโจทก์ ค่าเสียหายไม่เกิน30,000 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า รถยนต์โดยสารของโจทก์แล่นชนท้ายรถยนต์เก๋งที่แล่นอยู่ข้างหน้าก่อนและนายพยุงขับรถยนต์บรรทุกหกล้อชนรถยนต์โดยสารของโจทก์ แล้วต่างจอดรถทิ้งไว้กลางถนนไม่ให้สัญญาณ ทำให้นายเกรียงศักดิ์ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหลบไม่ทัน สัญญากรมธรรม์ประกันภัยกำหนดความรับผิดไม่เกิน 100,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1, ที่ 2ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 110,950 บาท จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหาย110,950 บาท โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในวงเงินไม่เกิน100,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิด ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาชั้นต้น โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามูลละเมิดในเรื่องนี้เป็นผลโดยตรงจากความประมาทของนายพยุง คนขับลูกจ้างที่ทำในทางการจ้างของจำเลยที่ 1 อันจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ส่วนนายเกรียงศักดิ์คนขับรถของจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนทำละเมิดไปถึงรถโจทก์ด้วย จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยรถจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปคือเรื่องค่าเสียหาย ซึ่งศาลชั้นต้นฟังว่า รถโจทก์เสียหายจากมูลละเมิด แต่นายพยุง คนขับรถของจำเลยที่ 1 และนายเกรียงศักดิ์ คนขับรถของจำเลยที่ 3 มีส่วนประมาทเท่าเทียมกัน พิพากษาแยกความรับผิดโดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 อีกฝ่ายหนึ่ง ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ฝ่ายละ 110,950 บาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาแยกความรับผิดของจำเลยทั้งสี่ออกเป็นสองฝ่ายดังกล่าวแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหายขึ้นมา เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 เท่านั้นที่จะต้องรับผิด จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงเฉพาะส่วนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้รับผิดคือ 110,950 บาท ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดในหนี้จากมูลละเมิดเป็นจำนวนเดียวและครั้งเดียวกัน ซึ่งเป็นหนี้อันแบ่งแยกมิได้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ก็ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสี่รับผิดเป็นหนี้จำนวนเดียว แต่ที่พิพากษาแบ่งให้จำเลยชำระเป็นสองฝ่ายก็เพียงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในชั้นบังคับคดีเท่านั้น สิทธิของโจทก์ในเรื่องนี้ก็คือ ได้รับชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนจากผู้ทำละเมิดเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายจากมูลละเมิดในคราวเดียวกันเป็นที่พอใจแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่จะให้โจทก์ต้องอุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหายขึ้นมาอีก กรณีเช่นนี้ถือว่าปัญหาเรื่องค่าเสียหายเต็มจำนวนได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยคนใดคนหนึ่งเท่านั้นที่ทำละเมิดต่อโจทก์ ก็ต้องให้ผู้นั้นรับผิดเต็มจำนวนจากมูลละเมิด จะแบ่งให้รับผิดเพียงบางส่วนหาชอบไม่ ศาลฎีกามีอำนาจให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์เต็มตามมูลหนี้แห่งการละเมิดที่เกิดขึ้นได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 193,900 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 4,500 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4

Share