คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 28/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยมีที่นาติดต่อกัน โจทก์ใช้ทางเกวียนผ่านที่นาจำเลยไปยังที่นาโจทก์เป็นเวลาติดต่อกันมานานกว่า 30 ปี จำเลยหามีสิทธิปิดกั้นทางเกวียนซึ่งโจทก์ใช้มาหลายสิบปีแล้วนั้นได้ไม่
หากจำเลยไม่ยอมเปิดทางดังกล่าว โจทก์ชอบที่จะดำเนินการบังคับคดีไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 298 ที่แก้ไขใหม่ โจทก์จะขอเป็นผู้จัดการเปิดทางเองโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายหาได้ไม่.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยเปิดทางตามแนวทางเดิมที่โจทก์เคยใช้ มีความกว้าง 4 เมตร หากจำเลยไม่จัดการ ขอให้สั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการเปิดเองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า ในที่นาของจำเลยไม่มีทางกว้าง 4 เมตร ตัดผ่านไปสู่ที่นาโจทก์ เส้นสีน้ำเงินในแผนที่ท้ายฟ้องนั้นเป็นทางเดินบนคันนากว้างประมาณ 50 เซนติเมตร สูงประมาณ 50 เซนติเมตรซึ่งจำเลยใช้เดินออกจากทางสาธารณะด้านทิศตะวันออกเข้าสู่กระท่อมนาของตนกว่า 30 ปีแล้ว จำเลยไม่เคยปิดกั้นเส้นทางดังกล่าว โจทก์เข้าสู่ที่นาของโจทก์จากทางสาธารณะทางทิศตะวันออกของนาจำเลย ผ่านที่นานางคำ ทับทิมหิน เป็นทางกว้างประมาณ 4 เมตร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยเปิดทางในที่นาจำเลยกว้าง 3เมตร
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ปัญหามีว่า มีทางเกวียนสาธารณะผ่านที่นาโจทก์จำเลยหรือไม่นั้น ตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า มีทางเกวียนดังกล่าว กว้าง 3-4 เมตรจากบ้านโพนทรายไปบ้านนาแก้วผ่านที่นาจำเลยและที่นาโจทก์ นายหนูพัน บุญแท้ นายสุข พลพวก นายสิงห์ ประดับศรี นายหอม กากแก้ว นางหนูเลื่อน ทับทิมหิน เบิกความเป็นพยานโจทก์ได้ความสอดคล้องกับคำเบิกความดังกล่าวของโจทก์ โดยเฉพาะนายหนูพันอ้างว่า ทางเกวียนนี้มีมาตั้งแต่ครั้งปู่ ย่า ตา ยายส่วนจำเลยมีนายละมัย หวังสุข นายเสือ วงษาสนธิ์ นายคำ (คนละคนกับนางคำ) ทับทิมหิน เบิกความเป็นพยานจำเลยสนับสนุนถ้อยคำของจำเลยว่า ไม่เคยมีทางตัดผ่านที่ดินของจำเลยไปถึงที่ดินโจทก์ สำหรับบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.1 นั้น กำนันตำบลบ้านไทยบันทึกไว้ว่า วันที่ 30 ตุลาคม 2513 กำนันได้รับแจ้งความจากนางดำรง ทองแสง ว่า นายอ้ม (จำเลย) นางก่อน กากแก้ว ได้ปิดทางไปมาซึ่งเป็นทางที่นางดำรงไปทำนาตลอดมา กำนันได้เรียกคู่กรณีและพยานทั้งสองฝ่ายมาสอบถามหาความจริงได้ความว่า ทางนี้เคยได้ใช้เป็นประจำตลอดมาตั้งแต่ครั้งปู่ ย่า ตา ยาย จึงไกล่เกลี่ยให้ตกลงกันให้ใช้ตามเดิม คือ ฤดูทำนาให้นำโคกระบือเข้าออกได้สะดวก ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็ให้ใช้ล้อเกวียนลากเข็นได้เช่นเคย ทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมปฏิบัติตามคำไกล่เกลี่ย จำเลยและนางดำรง (ภริยาโจทก์) ลงชื่อในฐานะคู่กรณีกำนันลงชื่อในฐานะผู้ไกล่เกลี่ย และมีราษฎรลงชื่อในฐานะพยานอีก 6 คน เอกสารฉบับนี้สนับสนุนข้อนำสืบของโจทก์อย่างแจ้งชัดว่ามีทางเกวียนอยู่ในที่ดินของจำเลยจริงเพราะมีข้อความว่าฤดูเก็บเกี่ยวจำเลยให้ฝ่ายโจทก์ใช้ล้อเกวียนลากเข็นได้เช่นเคยที่จำเลยนำสืบว่า เอกสารหมาย จ.1 เป็นหลักฐานที่แสดงว่า กำนันไกล่เกลี่ยกรณีที่ฝ่ายจำเลยและฝ่ายโจทก์ต่างปิดเส้นทางในที่นาของตน กำนันไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายต่างเปิดทางที่ตนปิดไว้นั้นขัดแย้งกับข้อความในเอกสารนี้อย่างเห็นได้ชัดเพราะเอกสารนี้ระบุว่าฝ่ายจำเลยเท่านั้นที่ปิดทางและกำนันไกล่เกลี่ยให้จำเลยเปิดทางแต่เพียงฝ่ายเดียวพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีทางเกวียนในที่นาของจำเลยตามเส้นสีน้ำเงินในแผนที่สังเขปหมาย จ.2 จริงดังที่โจทก์นำสืบ และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ทางเกวียนดังกล่าวกว้างประมาณ 3 เมตรนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จำเลยหามีสิทธิปิดกั้นทางเกวียนดังกล่าวซึ่งโจทก์ใช้มาหลายสิบปีแล้วนั้นได้ไม่ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์เป็นผู้จัดการเปิดทางในที่นาจำเลยได้เองหากจำเลยไม่ยอมเปิดให้โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าหากจำเลยขัดขืนปิดทางโดยวิธีดำนาอีก โจทก์ก็ชอบที่จะดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 298 ที่แก้ไขใหม่ โจทก์จะขอเป็นผู้จัดการเปิดทางเองหาได้ไม่’
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้สั่งโจทก์เป็นผู้จัดการเปิดทางเองโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share