คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 178/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทั่วไปนั้นถ้าไม่มีกฎหมายบังคับไว้โดยตรงหรือโดยปริยายว่าให้ต้องทำ ในสถานที่ราชการเท่านั้นแล้ว พนักงานผู้มีหน้าที่ก็ย่อมจะออกไปปฏิบัติราชการตามหน้าที่นอกสถานที่ได้ และการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติราชการเป็นการบริการให้แก่ประชาชนในวันหยุดราชการ เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามไว้และไม่เป็นการขัดต่อระเบียบแบบแผน ก็ย่อมจะต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการโดยชอบ ข้าราชการผู้ปฏิบัติราชการเช่นนี้ย่อมเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย การที่ปลัดอำเภอได้ออกไปจากอำเภอไปทำหนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก เอกสารดังกล่าวจึงเป็นหนังสือตัดมรดกที่ได้ทำต่อหน้าเจ้าพนักงานโดยชอบ มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย
ท.มารดาจำเลยถูกตัดไม่ให้รับมรดกตั้งแต่ก่อน ท.ตาย ท.จึงไม่ได้เป็นทายาทตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 อีกต่อไป ท.จึงไม่มีที่ (ความเป็นทายาท) ที่จำเลยจะเข้ารับมรดกแทนได้และไม่มีบทกฎหมายมาตราใดบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้สืบสันดานที่จะเข้าแทนที่การรับมรดกของทายาทโดยธรรมที่ถูกตัดมรดก หนังสือตัดไม่ให้รับมรดกเป็นการแสดงเจตนาโดยเด็ดขาดปราศจากเงื่อนไขใดๆ ของเจ้ามรดก จึงมีผลทันทีเมื่อได้ทำขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย หาใช่จะมีผลต่อเมื่อเจ้ามรดกตายไม่ เพราะหนังสือตัดทายาทโดยธรรมไม่ใช่พินัยกรรม ส่วนการที่การแสดงเจตนาตามหนังสือตัดการรับมรดกจะเกิดผลขึ้นเมื่อใดเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนางทิน แดงขวัญทอง เป็นบุตรนางเส้ง พุ่มคง นางเส้งได้ทำหนังสือตัดทายาทมิให้นางทินมีสิทธิรับมรดก ต่อมานางเส้งถึงแก่กรรม โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินมรดกของนางเส้งแต่ผู้เดียวตลอดมาโดยเจตนาเป็นเจ้าของด้วยความสงบและเปิดเผย เป็นเวลาปีเศษแล้ว ทรัพย์มรดกรายนี้จึงเป็นของโจทก์แต่ผู้เดียวทางอายุความ จำเลยได้ไปยื่นขอรับมรดกของนางเส้ง โจทก์จึงไปคัดค้านไม่ยอมแบ่งให้จำเลย ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าทรัพย์ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยถอนการขอรับมรดกของนางเส้น พุ่มคง ของจำเลยที่ยื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า หนังสือตัดทายาทโดยธรรมตามฟ้องไม่มีผลตามกฎหมาย เพราะนางทินมารดาจำเลยตายก่อนนางเส้งเจ้ามรดกและไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้เป็นพิเศษ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะรับมรดกแทนที่มารดาของจำเลยได้เจ้ามรดกพิมพ์ลายนิ้วมือโดยไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรอง ๒ คน และไม่ได้พิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้ในหนังสือตัดทายาทโดยธรรมจะระบุว่าทำต่อหน้านายสุพจน์ ลิมปกาญจน์ ปลัดอำเภอตรี แทนนายอำเภอสวีก็ดีก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างโดยนายอำเภอสวีไม่ได้มอบหมายให้ไปทำแทน วันที่ทำหนังสือตัดทายาทโดยธรรมเป็นวันหยุดราชการ และหนังสือดังกล่าวทำนอกสถานที่ที่ว่าการอำเภอสวี นายสุพจน์จึงไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามความในมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หนังสือตัดทายาทโดยธรรมไม่ได้ทำหรือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย การมอบหนังสือนี้จะต้องกระทำในวันเปิดสถานที่ราชการ การทำและการมอบหนังสือตัดทายาทฝ่าฝืนกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบ นายสุพจน์ไม่มีฐานะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่มีสิทธิใช้ดวงตราประจำตำแหน่งนายอำเภอสวีเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยได้ครอบครองที่พิพาททุกแปลงฝ่ายเดียว คดีโจทก์ขาดอายุความ ที่ดินที่พิพาทเป็นสินบริคณห์ระหว่างนายเทียมกับนางเส้น นางเส้งไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมหรือทำหนังสือตัดมรดกเกินกว่าส่วนของตน
ก่อนสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นสอบโจทก์ โจทก์ว่าเอกสารตัดทายาทโดยธรรมและใบเสร็จรับเงินได้ทำและออกให้ที่บ้านเจ้ามรดกในวันหยุดราชการ นายอำเภอปลัดอำเภอสวีไปทำให้ตามที่ฝ่ายเจ้ามรดกขอ ศาลชั้นต้นสอบจำเลย จำเลยต่อสู้ว่านายสุพจน์ไม่อยู่ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หลังจากสืบพยานโจทก์ได้ ๓ ปาก โจทก์จำเลยขอให้ศาลวินิจฉัยคดีไปโดยไม่ต้องสืบพยานตามข้อตกลงดังนี้
๑. หนังสือตัดมิให้ได้รับมรดกของเจ้ามรดกเป็นการกระทำต่อหน้าเจ้าพนักงานหรือไม่ เพราะเจ้ามรดกขอให้เจ้าพนักงานไปทำให้ที่บ้านในวันหยุดราชการ
๒. ถ้าหนังสือตามข้อ ๑. มีผลบังคับได้ตามกฎหมายเพราะผู้ถูกตัดตายก่อนเจ้ามรดก จะมีสิทธิได้รับมรดกแทนที่หรือไม่
๓. ถ้าหากจำเลยมีสิทธิได้รับมรดกแทนที่ตามข้อ ๒. หรือหนังสือตัดมิให้รับมรดกตามข้อ ๑. ไม่มีผลบังคับ โจทก์ยอมแบ่งที่พิพาททั้งหมดให้จำเลยกึ่งหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยได้สละข้อต่อสู้เดิมทั้งหมดแล้วตามที่ได้ตกลงกัน ปลัดอำเภอผู้ไปทำหนังสือตัดทายาทโดยธรรมให้เจ้ามรดกนั้น แม้จะไปทำในวันหยุดราชการ ก็ได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หนังสือตัดทายาทจึงมีผลใช้ได้ หนังสือตัดทายาทโดยธรรมเป็นเจตนาอันแน่วแน่ของเจ้ามรดก นางทินมารดาจำเลยจึงถูกตัดจากฐานะที่จะเป็นทายาทตั้งแต่วันทำหนังสือตัดทายาทโดยธรรมทันที แม้มารดาจำเลยแทนที่มารดาย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่ามารดาผู้เสวยสิทธิโดยตรง จำเลยไม่มีสิทธิที่จะรับมรดกแทนที่มารดา เพราะไม่มีที่จะให้รับแทนเสียแล้ว พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามกฎหมาย ห้ามจำเลยและบริษัทเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยถอนการรับมรดกของนางเส้ง พุ่มคง ที่ยื่นไว้ต่ออำเภอสวี หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เอกสารหนังสือตัดทายาทโดยธรรมแม้จะทำนอกที่ว่าการอำเภอในวันหยุดราชการก็ไม่มีกฎกระทรวงหรือระเบียบห้ามไว้ ถือได้ว่านายสุพจน์ได้ทำเอกสารดังกล่าวในฐานะผู้รักษาการแทนนายอำเภอ หนังสือมีผลใช้บังคับได้ เหตุที่จะมีการรับมรดกแทนที่กันได้จะต้องเป็นกรณีที่บัญญัติไว้ตามมาตรา ๑๖๓๙ ถึง ๑๖๔๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมิได้บัญญัติไว้ว่าการตัดมิให้รับมรดกนั้นให้มีการรับมรดกแทนที่ได้พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องการทำหนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกนี้เป็น เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอันการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทั่วไปนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายบังคับได้โดยตรงหรือโดยปริยายว่าให้ต้องทำในสถานที่ราชการเท่านั้นแล้ว พนักงานผู้มีหน้าที่ก็ย่อมจะออกไปปฏิบัติราชการตามหน้าที่นอกสถานที่ได้ดังเช่นจะเห็นได้ว่าในกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา ๑๖๗๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในข้อ ๕ ก็ได้บัญญัติไว้โดยปริยายให้เห็นได้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่อาจจะออกไปปฏิบัติกิจตามหน้าที่ภายนอกสถานที่ได้ ส่วนเรื่องการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติราชการเป็นการบริการให้แก่ประชาชนในวันหยุดราชการ เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามไว้ และไม่เป็นการขัดต่อระเบียบแบบแผน ย่อมจะต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการโดยชอบ ข้าราชการผู้ปฏิบัติราชการเช่นนี้ย่อมเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย การที่นายสุพจน์ ลิมปกาญจน์ ได้ออกไปจากอำเภอสวีไปทำเอกสารดังกล่าวในฐานะผู้รักษาการแทนนายอำเภอที่บ้านนางเส้งในวันหยุดราชการนั้น เอกสารที่นายสุพจน์ทำย่อมเป็นหนังสือตัดมรดกมิให้นางทินรับมรดกที่ได้ทำต่อหน้าเจ้าพนักงานโดยชอบมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ส่วนในกรณีที่มารดาจำเลยถูกตัดไม่ให้ได้รับมรดกตายเสียก่อนนางเส้งเจ้ามรดกนั้น เห็นว่าบทกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิการรับมรดกแทนที่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๖ หมวด ๔ ตั้งแต่มาตรา ๑๖๓๙ ถึง ๑๖๔๕ มีความพอสรุปได้ว่า การที่ผู้สืบสันดานจะมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่ทายาทที่แท้จริงได้นั้นมีอยู่ด้วยกัน ๒ กรณี คือกรณีที่ทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑)(๓)(๔) หรือ (๖) ตาย กับกรณีที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกดังที่มีบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๓๙ ปรากฏว่านางทินมารดาจำเลยถูกตัดไม่ให้รับมรดกเสียแล้วตั้งแต่ก่อนนางทินตาย นางทินจึงไม่ได้เป็นทายาทตามความในมาตรา ๑๖๒๙ อีกต่อไป นางทินจึงไม่มีที่ (ความเป็นทายาท) ที่จำเลยจะเข้ารับมรดกแทนได้ และไม่มีบทกฎหมายมาตราใดบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้สืบสันดานที่จะเข้าแทนที่การรับมรดกของทายาทโดยชอบธรรมที่ถูกตัดมรดกดังเช่นกรณีของจำเลยนี้ หนังสือตัดไม่ให้รับมรดกเป็นการแสดงเจตนาโดยเด็ดขาดปราศจากเงื่อนไขใดๆ ของเจ้ามรดก จึงมีผลทันทีเมื่อได้ทำขึ้นถูกต้องตามกฎหมาย หาใช่จะมีผลต่อเมื่อเจ้ามรดกตายไม่ เพราะหนังสือตัดทายาทโดยธรรมไม่ใช่พินัยกรรม ส่วนการที่การแสดงเจตนาตามหนังสือตัดการรับมรดกจะเกิดผลขึ้นเมื่อใดเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก หนังสือตัดมรดกดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้หาตกไปดังเช่นเรื่องพินัยกรรมไม่
พิพากษายืน

Share