คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 912/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 6 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 เป็นวิธีพิจารณาพิเศษซึ่งกำหนดให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย และศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24(เทียบนัยฎีกาที่ 146/2530) ตามหลักกฎหมายทั่วไป ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีจึงมีอำนาจหน้าที่พิจารณาว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดจะใช้บังคับแก่คดีได้หรือไม่เพียงใดและย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย เว้นแต่จะมีบทกฎหมายใดโดยเฉพาะบัญญัติให้อำนาจนี้ไปตกอยู่แก่องค์การอื่น ระหว่างที่ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 มีผลใช้บังคับได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพ.ศ. 2534 ซึ่งตามมาตรา 30 วรรคสอง บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้นเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าการกระทำหรือการปฏิบัติใดขัดต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพ.ศ. 2534 หรือไม่ ถ้อยคำที่ว่า “การกระทำหรือการปฏิบัติ”ไม่หมายความรวมถึงบทบัญญัติของกฎหมายด้วย ทั้งขณะผู้ร้องยื่นคำร้อง สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้สิ้นสภาพไปแล้ว และแม้ในขณะที่ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหานี้ได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 แล้ว แต่ตามมาตรา 206 วรรคแรกและมาตรา 5 ก็แสดงว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะในปัญหาว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 หรือไม่เท่านั้น ดังนั้น อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 หรือไม่ จึงตกอยู่แก่ศาลตามหลักกฎหมายทั่วไป (ตามนัยฎีกาที่ 766/2505,222/2506 และ225/2506) คำวินิจฉัยของ คตส.ตามประกาศรสช. ฉบับที่ 26ข้อ 2 และข้อ 6 มีผลให้ทรัพย์สินที่ คตส.วินิจฉัยว่าได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน เป็นการลงโทษริบทรัพย์สินในทางอาญา โดยที่มิได้ให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงนำคดีไปฟ้องร้องให้เป็นอย่างอื่นได้ อำนาจของ คตส.เป็นอำนาจเด็ดขาด และเป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยเป็นอำนาจของศาล จึงมีผลเป็นการตั้งคณะบุคคลที่มิใช่ศาลให้มีอำนาจทำการพิจารณาพิพากษาคดีเช่นเดียวกับศาล ย่อมขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยนอกจากนี้ทรัพย์สินของผู้ร้องที่ถูกยึดและตกเป็นของแผ่นดินตามคำวินิจฉัยของ คตส. เป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาหรือมีเพิ่มขึ้นก่อนที่ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 6 ใช้บังคับจึงเป็นการออกและใช้กฎหมายที่มีโทษในทางอาญาย้อนหลังไปลงโทษแก่ผู้ร้อง ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีบทบัญญัติห้ามเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันถือได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอีกประการหนึ่งด้วย ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 ข้อ 2 และข้อ 6 จึงใช้บังคับมิได้ (ตามนัยฎีกาที่ 222/2506) และเป็นเหตุให้คำวินิจฉัยของคตส. ไม่มีผลบังคับไปด้วย ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 มาตรา 32เป็นเพียงการบัญญัติรับรองโดยทั่วไปว่า ประกาศหรือคำสั่งรสช. มีผลให้ใช้บังคับได้เช่นกฎหมายเท่านั้น มิได้บัญญัติรับรองไปถึงว่าให้ใช้บังคับได้แม้เนื้อหาตามประกาศหรือคำสั่ง รสช. ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 แต่อย่างไร

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แล้วได้พ้นตำแหน่งว่าการกระทรวงคมนาคมไปเป็นฝ่ายค้านทางการเมือง ต่อมาพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ กับคณะได้ยึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ในนามของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) แล้วได้ออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 26เรื่องให้อายัดและห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สิน โดยให้มีคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ขึ้นมีอำนาจหน้าที่พิจารณารายชื่อนักการเมืองที่มีพฤติการณ์อันส่อแสดงว่า มีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติ ผิดวิสัยผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริต แล้วประกาศชื่อให้สาธารณชนทราบ และรวบรวมทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้กับทรัพย์สินอื่น ๆ ที่น่าเชื่อว่าเป็นของบุคคลนั้น แล้วพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลนั้น ๆ ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ ทรัพย์สินที่ คตส. ตรวจสอบแล้ววินิจฉัยว่า เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติให้ตกเป็นของแผ่นดิน ต่อมา คตส.ได้มีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยให้ผู้ร้องทราบว่า ผู้ร้องมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นทั้งในนามตนเอง ภริยาบุตร และในนามบุคคลอื่น โดยไม่อาจอธิบายและชี้แจงแหล่งที่มาได้โดยชอบ จำนวน 364,332,891 บาท 76 สตางค์ ผู้ร้องจึงร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งมีผลให้บรรดาทรัพย์สินที่วินิจฉัยว่า เป็นทรัพย์สินของผู้ร้องทั้งที่อยู่ในนามของตนเอง ภริยา บุตร และในนามบุคคลอื่นมีเพิ่มขึ้นผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินผู้ร้องเห็นว่าคำวินิจฉัยของ คตส.ดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบและไม่ถูกต้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของ คตส.ดังกล่าว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 มิได้ขัดหรือแย้งกับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 ทั้งไม่มีการกระทำหรือการปฏิบัติการใด ขัดหรือแย้งหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองดังกล่าว หรือขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ เพราะธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 มาตรา 32 ได้บัญญัติรับรองการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งของหัวหน้า รสช. หรือ รสช.ว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ระหว่างสืบพยาน ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ไม่มีผลใช้บังคับเพราะขัดต่อการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2กับขัดต่อรัฐธรรมนูญ ธรรมนูญการปกครองแห่งประเทศไทยและประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย
ผู้คัดค้านยื่นคำแถลงคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลแพ่งทำความเห็นและส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้หรือไม่ และศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยคำร้องนั้นโดยไม่ต้องส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 6ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2534 บัญญัติว่า
เมื่อศาลแพ่งได้รับคำร้องตามวรรคสองแล้ว ให้ส่งสำเนาคำร้องให้พนักงานอัยการเพื่อทำคำคัดค้านภายในสามสิบวัน และให้ศาลแพ่งดำเนินการพิจารณาต่อไปโดยไม่ชักช้า โดยให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ทำความเห็นและส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยและให้ศาลฎีกามีอำนาจดังต่อไปนี้
ในการวินิจฉัยของศาลฎีกาตามวรรคสาม ให้ประธานศาลฎีกาดำเนินการให้มีการวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง” จึงเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นวิธีพิจารณาพิเศษ กำหนดให้ศาลแพ่งดำเนินการพิจารณาโดยศาลแพ่งไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดด้วยตนเองได้นอกจากทำความเห็นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ดังนี้ ผู้ร้องย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ เพราะตามความในข้อ 6 ได้บัญญัติให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และอำนาจของศาลในการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายก็มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 146/2530
สำหรับปัญหาที่ว่าศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามคำร้องโดยไม่ต้องส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้หรือไม่นั้นพิเคราะห์แล้ว ขณะที่ รสช.ออกประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญการปกครองฉบับใดใช้บังคับ ต่อมาระหว่างที่ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26มีผลใช้บังคับอยู่นั้น ได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 ดังนั้น ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 และจะขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 ไม่ได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 225/2506 ในปัญหาว่า องค์การใดเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 นั้นตามหลักกฎหมายทั่วไป ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี จึงมีอำนาจหน้าที่พิจารณาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดจะใช้บังคับแก่คดีได้หรือไม่เพียงใด ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย เว้นแต่จะมีบทกฎหมายใดโดยเฉพาะบัญญัติให้อำนาจนี้ไปตกอยู่แก่องค์กรอื่น และขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้สิ้นสภาพไปแล้ว และแม้ในขณะที่ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหานี้ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 แล้ว ซึ่งมาตรา 206 วรรคแรกบัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งโดยศาลเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 5และยังไม่มีคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการ เพื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย” แต่มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า”บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวแสดงว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะในปัญหา ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 หรือไม่ เท่านั้นอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 หรือไม่จึงตกอยู่แก่ศาลตามหลักกฎหมายทั่วไปดังที่ได้กล่าวมาแล้วศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำร้องโดยไม่ต้องส่งไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 766/2505และคำพิพากษาฎีกาที่ 222/2506
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 ข้อ 2และข้อ 6 ขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 และมีลักษณะเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญาที่ใช้บังคับย้อนหลัง หรือไม่ พิเคราะห์ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 ข้อ 2 ที่ให้ คตส.มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณารายชื่อนักการเมืองที่มีพฤติการณ์อันส่อแสดงให้เห็นได้ว่ามีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติผิดวิสัยของผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริต และให้ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้สาธารณชนทราบ และรวบรวมทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่น่าเชื่อว่าเป็นของบุคคลดังกล่าว และพิจารณาวินิจฉัยว่า บุคคลนั้น ๆ ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส.บุคคลใดจะฟ้องร้องหรือดำเนินคดีแพ่งหรืออาญาใด ๆ มิได้นอกจากนี้ในข้อ 6 ยังให้บรรดาทรัพย์สินที่ คตส.วินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่ผู้ถูกโดยชอบกล่าวหาสามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ คตส.เชื่อว่าทรัพย์สินดังกล่าวตนได้มาโดยชอบภายในกำหนดสิบห้าวัน คำวินิจฉัยของ คตส. ตามข้อ 2 และข้อ 6 ดังกล่าว มีผลให้ทรัพย์สินที คตส.วินิจฉัยว่าได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินอันเป็นการลงโทษริบทรัพย์สินในทางอาญาโดยที่มิได้ให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงนำคดีไปฟ้องร้องให้เป็นอย่างอื่นได้ อำนาจของ คตส.ดังกล่าวเป็นอำนาจเด็ดขาด แม้ต่อมาจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ รสช.ฉบับนี้ โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 263 ลงวันที่25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ก็ตาม แต่บทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ก็มิได้แก้ไขให้มีทางเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของ คตส.ในข้อที่ว่านักการเมืองคนนั้น ๆ มีทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติ และร่ำรวยผิดปกติ ผิดวิสัยของผู้ประกอบอาชีพสุจริต เพราะตามข้อ 6 วรรคสาม (1)(2) เพียงแต่ให้ศาลฎีกามีอำนาจสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของ คตส. ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่แสดงให้ศาลเห็นว่าตนได้มาโดยชอบเท่านั้น อำนาจของ คตส.ดังกล่าวจึงเป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ซึ่งตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยเป็นอำนาจของศาลในอันที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 ข้อ 2 และข้อ 6จึงมีผลเป็นการตั้งคณะบุคคลที่มิใช่ศาลให้มีอำนาจทำการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเช่นเดียวกับศาล ย่อมขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีบทบัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล และการตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะแทนศาลที่มีอยู่ตามกฎหมาย จะกระทำมิได้ นอกจากนี้ทรัพย์สินของผู้ร้องที่ถูกยึด และตกเป็นของแผ่นดินตามคำวินิจฉัยของ คตส.เป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาหรือมีเพิ่มขึ้นก่อนที่ประกาศรสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 6 ใช้บังคับ จึงเป็นการออกและใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาย้อนหลังไปลงโทษแก่ผู้ร้อง ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีบทบัญญัติห้ามออกกฎหมายที่มีโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลังเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันถือได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอีกประการหนึ่งด้วยเมื่อประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 2 และข้อ 6 ขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 มาตรา 30 จึงใช้บังคับมิได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 222/2506 เป็นเหตุให้คำวินิจฉัยของคตส. ที่อาศัยอำนาจตามประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 ข้อ 2 และข้อ 6ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ไม่มีผลบังคับไปด้วย
อนึ่ง ที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534มาตรา 32 บัญญัติว่า “บรรดาการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ได้กระทำประกาศหรือสั่งก่อนวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ทั้งนี้ ที่เกี่ยวเนื่องกับการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใด หรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำประกาศหรือสั่งให้มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ ให้ถือว่าการกระทำประกาศหรือคำสั่ง รวมทั้งการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้นตลอดจนการกระทำของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดหรือควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินดังกล่าวเป็นการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” นั้นเป็นเพียงการรับรองโดยทั่วไปว่า ประกาศหรือคำสั่งของ รสช.ดังกล่าวมีผลให้ใช้บังคับได้เช่นกฎหมายเท่านั้นมิได้บัญญัติรับรองไปถึงว่าให้ใช้บังคับได้แม้เนื้อหาตามประกาศหรือคำสั่งของ รสช.ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 แต่อย่างใด เพราะปัญหาว่าประกาศหรือคำสั่งของ รสช. ใช้บังคับได้เพียงใด ต่างกรณีกันกับปัญหาที่ว่าประกาศหรือคำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และที่ผู้คัดค้านอ้างว่าประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2534 ตามมาตรา 222 นั้น เห็นว่า เมื่อประกาศ รสช.ฉบับดังกล่าว ข้อ 2 และข้อ 6 ใช้บังคับมิได้ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคแรก แล้วจึงมิใช่กฎหมายที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ไม่อาจนำมาตรา 222 มาบังคับใช้แก่กรณีนี้ได้ปัญหาอื่นนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัย
จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับผู้ร้อง

Share