แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ขับรถโดยสาร-ประจำทางด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ได้ทำละเมิด จำเลยที่ 1 และที่ 2ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ต้องร่วมรับผิด โจทก์ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3ขับรถโดยสารประจำทางด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นการทำละเมิด เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงคดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ที่ 2 จำนวนเงิน 90,000 บาท โจทก์ที่ 5และที่ 6 จำนวนเงินคนละ 60,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ที่ 2ที่ 5 และที่ 6 แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ พ. ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การในข้อนี้ว่าโจทก์ที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรของ พ.หรือไม่ ไม่ทราบไม่รับรอง ซึ่งเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรของ พ.หรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ในปัญหานี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
หลังเกิดเหตุก่อนที่ พ.ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ทำบันทึกชดใช้ค่าเสียหายโดยมีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5ตกลงใช้เงินจำนวน 150,000 บาท และโจทก์ที่ 1 ตกลงว่าค่าเสียหายส่วนอื่นนอกเหนือจากที่ตกลงกันและที่จะมีขึ้นต่อไป โจทก์ที่ 1 จะไม่ใช้สิทธิเรียกร้องใด ๆจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผลให้หนี้ในมูลละเมิดระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ที่มีอยู่ระงับสิ้นไป ทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 เมื่อจำเลยที่ 4 และที่ 5 ชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 ครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 1 จะมาฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากมูลละเมิดที่ระงับสิ้นไปแล้วหาได้ไม่
โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยังเป็นผู้เยาว์ การที่โจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสามจะตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 แทนผู้เยาว์ทั้งสาม ซึ่งถือเป็นการทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ทั้งสามจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ตามบทบัญญัติแห่งป.พ.พ. มาตรา 1574 (8) เดิม (มาตรา 1574 (12) ที่ได้ตรวจชำระใหม่)เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากศาลสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในอันที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยที่ 4 และที่ 5
การใช้สิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ที่ 5 และที่ 6 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ที่ 5 และที่ 6