แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ถึงจำเลยจะซื้อที่พิพาทซึ่งเป็นที่มือเปล่ามาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนจาก ว. ผู้อาศัยโจทก์ จำเลยก็ไม่ได้สิทธิเพราะ ว.ไม่มีอำนาจเอาที่ดินของโจทก์ไปขายให้จำเลยกรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ซึ่งเป็นเรื่องการโอนทางทะเบียนและผู้โอนมีชื่ออยู่ในทะเบียนเช่นโฉนดตราจอง
การที่จำเลยครอบครองที่พิพาท 28-29 ปี โดยไม่ได้ขออาศัยจากโจทก์ก็ไม่ทำให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์ครอบครอง เพราะ ว. อยู่ในที่พิพาทฐานะผู้อาศัยจึงเป็นผู้ครอบครองแทนโจทก์ เมื่อ ว. ขายให้จำเลย จำเลยย่อมได้สิทธิไปเพียงเท่าที่ ว.มีอยู่ คือเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทแทนเจ้าของเท่านั้น เว้นแต่จำเลยจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381
การแจ้งการครอบครองของจำเลยไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 5
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอศาลพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนเรือนออกไป โดยจำเลยออกค่าใช้จ่าย และห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อเรือนพร้อมที่พิพาทจากนายเวทย์ กาญจนกันติ โดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองและเข้าครอบครองถือสิทธิเป็นเจ้าของโดยสุจริตและเปิดเผย ประมาณ ๒๘-๒๙ ปีแล้ว ทั้งได้แจ้งการครอบครองไว้ จำเลยไม่เคยพูดขออาศัยที่พิพาทกับโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท โดยให้จำเลยรื้อถอนบ้านเรือนออกไปด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย ห้ามจำเลยกับบริวารเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความว่าเดิมที่พิพาทเป็นที่มือเปล่าทางการเพิ่งออกโฉนดให้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ดังที่จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยได้ซื้อที่พิพาทจากนายเวทย์ กาญจนกันติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ โดยทำหนังสือสัญญากันเอง แต่โจทก์ก็นำสืบได้ความชัดว่าขณะซื้อที่พิพาทเป็นของโจทก์ ที่จำเลยอ้างว่านายเวทย์ กาญจนกันติ ซื้อที่พิพาทจากโจทก์ก่อนขายให้จำเลย ๖-๗ ปี นั้นฟังไม่ได้เพราะจำเลยเป็นแต่ทราบมา หามีพยานหลักฐานสนับสนุนไม่ ดังนั้น ถึงจำเลยจะซื้อที่พิพาทมาโดยสุจริต และมีค่าตอบแทน ก็ไม่มีทางได้สิทธิเพราะนายเวทย์ กาญจนกันติ ไม่มีอำนาจเอาที่ดินของโจทก์ไปขายให้จำเลย กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ ซึ่งเป็นเรื่องการโอนทางทะเบียน และผู้โอนมีชื่ออยู่ในทะเบียนเช่นโฉนดตราจอง การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทโดยไม่ได้ขออาศัยจากโจทก์ก็ไม่ทำให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง เพราะนายเวทย์ กาญจนกันติ เองก็อยู่ในที่พิพาทฐานะผู้อาศัย จึงเป็นผู้ครอบครองแทนโจทก์เมื่อขายให้จำเลย จำเลยย่อมได้สิทธิไปเพียงเท่าที่นายเวทย์ กาญจนกันติ มีอยู่ คือเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทแทนเจ้าของเท่านั้น เว้นแต่จำเลยจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๑ ซึ่งไม่มีประเด็นในคดีนี้ การแจ้งการครอบครองของจำเลยไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๕
พิพากษายืน