คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2509/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างแถลงรับข้อเท็จจริงแล้วท้ากันให้ศาลแรงงานวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยไม่สืบพยานว่า ตามกฎระเบียบเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ข้อที่ 2 เพียงว่าหากศาลวินิจฉัยว่า พนักงานมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อเริ่มทำงานในปีที่ 2 โดยมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 6 วัน การที่ผู้คัดค้านยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีในวันที่ 15 และวันที่ 21 กรกฎาคม 2539 และหยุดงานไปในวันดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเกินกว่าที่ผู้ร้องกำหนด ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่และขาดงานเท่านั้น หาได้มีข้อตกลงหรือคำท้าว่า หากศาลวินิจฉัยความหมายของกฎระเบียบเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีข้อที่ 2 เป็นไปตามความหมายที่ผู้ร้องอ้างแล้ว ผู้คัดค้านจะต้องถูกลงโทษตามที่ผู้ร้องได้ร้องขอด้วยไม่ ฉะนั้น เมื่อศาลแรงงานพิจารณากฎระเบียบดังกล่าวแล้ววินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเกินกว่าที่ผู้ร้องกำหนดเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องจึงเป็นการวินิจฉัยไปตามคำท้าครบถ้วนแล้ว หาใช่วินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำท้า
ศาลแรงงานใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านเพียงแต่ตักเตือนเป็นหนังสืออย่างเดียว โดยไม่อนุญาตให้ลงโทษปรับลดผู้คัดค้านมาเป็นพนักงานรายวัน เพราะเห็นว่าการที่ผู้คัดค้านฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องดังกล่าวก็โดยเข้าใจว่าสิทธิในการลาหยุดพักผ่อนประจำปีของผู้คัดค้านยังเหลืออยู่ มิใช่เป็นการจงใจละทิ้งหน้าที่หรือขาดงานไปโดยไม่มีเหตุอันควร อันเป็นการใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านตามความร้ายแรงแห่งพฤติการณ์ ซึ่งศาลแรงงานชอบที่จะกระทำได้ ไม่เป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ

Share