แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กรมชลประทานจำเลยที่ 2รับผิดชอบในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำพิพาท โดยงบประมาณการก่อสร้างเป็นของจำเลยที่ 2 เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าว การสร้างอ่างเก็บน้ำพิพาทแม้จะเกิดจากการริเริ่มของสภาตำบล ช. และความประสงค์ของราษฎรในพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์จากการกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งแต่ก็เกิดผลกระทบต่อราษฎรบางส่วน เพราะทำให้เกิดน้ำท่วมที่ดินของราษฎรด้วย ทางราชการไม่มีเงินสำหรับชดเชยความเสียหายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพทำนาและทำไร่ได้ตามปกติ จึงให้จำเลยที่ 1 ตกลงกับราษฎรให้สละที่ดินเสียก่อนจึง ดำเนินการก่อสร้าง จำเลยที่ 2 ได้แจ้งถึงผลกระทบที่จะเกิด หลังก่อสร้างเสร็จให้จำเลยที่ 1 ทราบและให้จำเลยที่ 1 แก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎร ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการ สร้างอ่างเก็บน้ำ หากแก้ไขไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 เสนอให้ระงับ โครงการ แต่จำเลยที่ 1 ยืนยันให้จำเลยที่ 2 ก่อสร้างต่อไป อ้างว่าได้แก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำต่อไปจึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนผิด ในงานที่ทำ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ที่ดินของโจทก์ถูกน้ำท่วมตลอดมาตั้งแต่ปี 2528 จนถึงวันฟ้อง เป็นการละเมิดต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงวันฟ้องโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2533 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
คดีทั้งห้าสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์ในสำนวนที่ 1 ถึงที่ 5 ว่าโจทก์ที่ 1ถึงที่ 5 ตามลำดับและเรียกจำเลยทั้งสองในทุกสำนวนว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2170, 745ใบจองเลขที่ 435 หนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 731 และ 733จำเลยทั้งสองร่วมกันสร้างอ่างเก็บน้ำ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้น้ำในอ่างเอ่อล้นท่วมที่ดินของโจทก์ทั้งห้า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 551,500 บาท และค่าเสียหายปีละ 76,000 บาทมีกำหนด 10 ปี ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 236,000 บาทและค่าเสียหายปีละ 36,000 บาท มีกำหนด 10 ปี ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 150,000 บาท และค่าเสียหายปีละ 24,000 บาทนับแต่วันฟ้อง ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 130,000 บาทและค่าเสียหายปีละ 20,000 บาท มีกำหนด 10 ปี ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 322,500 บาท และค่าเสียหายปีละ 49,000 บาทมีกำหนด 10 ปี
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งห้าไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง และคดีโจทก์ทั้งห้าขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรมนายสงัด ธิติมูล ทายาทของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1ชำระเงินจำนวน 240,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 106,000 บาทแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 60,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 55,000 บาทแก่โจทก์ที่ 4 และจำนวน 142,000 บาท แก่โจทก์ที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า การสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำเลียบที่พิพาทเกิดจากความต้องการของราษฎรในพื้นที่ที่สร้างอ่างเก็บน้ำโดยสภาตำบลเป็นผู้ลงมติอนุมัติให้สร้างและเสนอผ่านทางอำเภอเชียงกลางและจำเลยที่ 1 ตามลำดับ จำเลยที่ 1 เห็นชอบด้วย จึงเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออนุมัติโครงการ สำหรับการสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำเลียบนี้สำนักงานคณะกรรมการประสานงานและเร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำ สำนักนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้าง โดยงบประมาณในการก่อสร้างเป็นของจำเลยที่ 2 เมื่อการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเสร็จแล้วให้จำเลยที่ 1เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำเลียบนี้ก่อนจะเริ่มก่อสร้างมีราษฎรประมาณ 22 คน รวมทั้งโจทก์ทั้งห้าได้คัดค้านการก่อสร้างเพราะจะทำให้น้ำท่วมที่นาของพวกผู้คัดค้านแต่ภายหลังผู้คัดค้านทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าได้ถอนคำคัดค้านเพราะได้รับการยืนยันจากจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อสร้างอ่างเก็บน้ำเสร็จน้ำจะไม่ท่วมที่นาของผู้คัดค้าน จำเลยที่ 2 สร้างอ่างเก็บน้ำน้ำเลียบเสร็จเมื่อปี 2527 หลังจากสร้างเสร็จเมื่อฝนตกน้ำในอ่างได้เอ่อท่วมที่นาของราษฎรรวมทั้งที่นาของโจทก์ทั้งห้าตลอดมาทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายไม่สามารถประกอบอาชีพทำนาและทำไร่ได้ตามปกติ เห็นว่า การสร้างอ่างเก็บน้ำที่พิพาทนี้แม้จะเกิดจากการริเริ่มของสภาตำบลเชียงคาน และความประสงค์ของราษฎรในพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์จากการกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งก็ตาม แต่ก็เกิดผลกระทบต่อราษฎรบางส่วนเพราะทำให้เกิดน้ำท่วมที่ดินของราษฎรด้วย ทางราชการไม่มีเงินสำหรับชดเชยความเสียหายดังกล่าวจึงให้จำเลยที่ 1 ตกลงกับราษฎรให้สละที่ดินเสียก่อนจึงดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจำเลยที่ 2ก็ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงผลกระทบดังกล่าวแล้วแต่จำเลยที่ 1 หาได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรไม่กลับอ้างต่อโจทก์ทั้งห้าว่าเมื่อสร้างอ่างเก็บน้ำเสร็จแล้วน้ำจะไม่ท่วมที่นาของโจทก์ทั้งห้า ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าเมื่อสร้างอ่างเก็บน้ำเสร็จแล้วน้ำได้ท่วมที่นาของโจทก์ทั้งห้าจนไม่สามารถประกอบอาชีพในการทำนาและทำไร่ได้ตามปกติเช่นนี้การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้าจะอ้างว่าเหตุน้ำท่วมเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 2นั้น แม้จะเป็นผู้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำก็ตาม แต่จำเลยที่ 2ได้แจ้งถึงผลกระทบหลังก่อสร้างเสร็จให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วและให้จำเลยที่ 1 แก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ หากแก้ไขไม่ได้ก็ให้จำเลยที่ 1เสนอให้ระงับโครงการต่อไป แต่จำเลยที่ 1 ก็ยืนยันให้จำเลยที่ 2ก่อสร้างต่อไปอ้างว่าได้แก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นแล้ว ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำต่อไป จำเลยที่ 2จึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนผิดในงานที่ทำ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 5ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1ที่ 2 และที่ 5
สำหรับประเด็นค่าเสียหายนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่วินิจฉัยมาแล้วว่า เมื่อมีการสร้างอ่างเก็บน้ำเสร็จแล้วเมื่อมีฝนตกทำให้น้ำในอ่างเอ่อท่วมที่นาของโจทก์ทั้งห้าจนไม่สามารถจะทำประโยชน์ในที่ดินได้แล้ว นอกจากโจทก์จะเสียที่ดินไปเพราะน้ำท่วมโดยไม่ได้รับการชดเชยแล้วโจทก์ทั้งห้ายังขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินในการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ หลังฤดูทำนาอีกด้วยแต่ที่โจทก์ทั้งห้านำสืบถึงค่าเสียหายต่าง ๆ มาก็เป็นเพียงกะประมาณเองทั้งสิ้น ไม่มีหลักฐานมายืนยันให้ฟังได้แน่นอนว่าโจทก์ทั้งห้าจะได้รับประโยชน์จากการเพาะปลูกพืชผลต่าง ๆตามที่นำสืบทุกปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งห้ามานั้นเห็นว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าเหตุละเมิดเกิดเมื่อปี 2528 โจทก์ทั้งห้าแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2530 ตามเอกสารหมาย ล.1โจทก์ทั้งห้านำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2533 พ้นกำหนด1 ปี นับแต่วันละเมิดคดีของโจทก์ทั้งห้าจึงขาดอายุความนั้นเห็นว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าถูกน้ำท่วมตลอดมาตั้งแต่ปี 2528จนถึงวันฟ้อง เป็นการละเมิดต่อเนื่องกันตลอดมา คดีโจทก์ทั้งห้าไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน