คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3478-3479/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานอัยการยื่นฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ผู้เสียหายยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในมูลความผิดเดียวกัน ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ดังนี้ พนักงานอัยการไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๒, ๓๖๔, ๓๖๕ (๒) (๓), ๘๓
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๕, ๘๓ จำคุกคนละ ๖ เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกคนละ ๔ เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ ประกอบด้วยมาตรา ๓๖๔ ให้ปรับ ๑,๕๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้ว คงปรับ ๑,๐๐๐ บาท โทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ สำหรับจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว วินิจฉัยว่าคำฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคาม โจทก์ที่ ๑ ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ ๒ แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ ๑เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ มาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องนอกฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้… และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ ๒ มีนางไกรและนางวิรัตน์เบิกความว่า จำเลยที่ ๒ ยืนขวางประตูไม่ให้นางไกรเข้าบ้าน แต่พยานโจทก์ที่ ๒ ทั้งสองปากมิได้ให้การถึงเรื่องนี้ไว้ในชั้นสอบสวนหากเป็นจริงดังที่พยานเบิกความ ก็น่าจะให้การไว้ในชั้นสอบสวนด้วย ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ยืนขวางนางไกรไว้ในขณะที่จำเลยที่ ๑ เข้าไปเอาเครื่องเล่นวีดีโอเทป ลำพังแต่จำเลยที่ ๒ ไปและกลับพร้อมจำเลยที่ ๑ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๑เพราะข้อเท็จจริงอาจเป็นดังที่จำเลยที่ ๒ ต่อสู้ก็ได้
พิพากษายืน.

Share