แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของจึงตกอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติ ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 7 โจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญา (ถอนจากการเป็นทนายความ) ได้ตราบใดที่การที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ เพียงแต่โจทก์จะต้องเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 605 แต่ข้อสัญญาจ้างว่าความที่กำหนดห้ามโจทก์บอกเลิกสัญญามิได้ห้ามเด็ดขาดเพียงแต่หากเลิกสัญญา โจทก์จะต้องชำระค่าทนายความ (ค่าจ้าง) ที่ค้างอยู่ทั้งหมดทันทีเท่านั้น ข้อสัญญานี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ส่วนข้อสัญญาให้โจทก์ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชำระค่าจ้างที่ค้างอยู่ทั้งหมดนั้น ก็เป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงมีผลใช้บังคับได้เช่นกัน ผู้ว่าจ้างจะชำระค่าจ้างเต็มตามสัญญาก็ต่อเมื่อผู้รับจ้างทำการที่จ้างแล้วเสร็จ เมื่อจำเลยที่ 1 ยังทำการที่จ้างไม่แล้วเสร็จจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน การที่ตกลงให้โจทก์ผู้ว่าจ้างรับผิดเต็มจำนวน จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาว่าสัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกัน และบังคับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าจ้างว่าความที่โจทก์ชำระล่วงหน้า 200,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตรร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 หักเงินดังกล่าวเป็นค่าป่วยการและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ออก 20,000 บาท หรือตามที่ศาลเห็นสมควร
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ 400,000 บาท โจทก์จึงยินยอมชำระเงินค่าจ้างว่าความให้จำเลยที่ 1 ตามสัดส่วนของผลงานในอัตราร้อยละ 5 ของเงินค่าจ้างที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างว่าความเป็นเงิน 22,500 บาท เมื่อหักกับเงินค่าจ้างว่าความที่โจทก์ชำระให้จำเลยที่ 1 ล่วงหน้าแล้วจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินแก่โจทก์ 177,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 ชำระเสร็จแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นพิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันที่ 18 มีนาคม 2541 โจทก์ทำสัญญาจ้างว่าความกับจำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 1 บอกกล่าวทวงถามและฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากสัญญาร่วมลงทุนค้ารถยนต์ระหว่างโจทก์กับนายขจรเดชและนางสุรางค์ โดยตกลงค่าสินจ้างว่าความในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาตลอดจนการบังคับคดีเป็นเงิน 450,000 บาท แบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดแรกชำระในวันยื่นฟ้อง 200,000 บาท งวดที่ 2 ชำระในวันคดีถึงที่สุด 250,000 บาท วันที่ 1 มิถุนายน 2541 จำเลยที่ 1 ทำคำฟ้องยื่นฟ้องนายขจรเดชและนางสุรางค์ต่อศาลแพ่งและในวันดังกล่าวโจทก์ได้ชำระค่าสินจ้างแก่จำเลยที่ 1 แล้ว 200,000 บาท ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2542 ระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นทนายความของโจทก์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 พ้นจากการเป็นทนายความของโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามสัญญาจ้างว่าความ ข้อ 4 กำหนดว่า ผู้ว่าจ้าง (โจทก์) จะไม่ถอนทนายความ หากมีการถอนทนายความในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ผู้ว่าจ้างยอมให้ถือว่าทนายความได้ดำเนินคดีถึงที่สุดแล้ว และยอมชำระค่าทนายความที่ค้างอยู่ทั้งหมดทันที เมื่อโจทก์ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างว่าความ ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าจ้างว่าความส่วนที่เหลือ 250,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของจึงตกอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 7 โจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญา (ถอนจากการเป็นทนายความ) ได้ตราบใดที่การที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ เพียงแต่โจทก์จะต้องเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605 แต่ข้อสัญญาจ้างว่าความที่กำหนดห้ามโจทก์บอกเลิกสัญญามิได้ห้ามเด็ดขาดเพียงแต่หากเลิกสัญญา โจทก์จะต้องชำระค่าทนายความ (ค่าจ้าง) ที่ค้างอยู่ทั้งหมดทันทีเท่านั้น ข้อสัญญานี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ส่วนข้อสัญญาให้โจทก์ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชำระค่าจ้างที่ค้างอยู่ทั้งหมดนั้น ก็เป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงมีผลใช้บังคับได้เช่นกัน ดังได้วินิจฉัยมาแล้วว่า สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างจะชำระค่าจ้างเต็มตามสัญญาก็ต่อเมื่อผู้รับจ้างทำการที่จ้างแล้วเสร็จ เมื่อจำเลยที่ 1 ยังทำการที่จ้างไม่แล้วเสร็จจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน การที่ตกลงให้โจทก์ผู้ว่าจ้างรับผิดเต็มจำนวน จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ