คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8584/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยต้องเข้าปฏิบัติงานภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2544 แต่จำเลยไม่เข้าปฏิบัติงานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยให้การต่อสู้ว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดให้จำเลยเข้าปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นไปดังนี้ ประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จึงมีเพียงว่าข้อตกลงที่มีต่อกันกำหนดให้จำเลยต้องเริ่มปฏิบัติงานภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2544 หรือไม่ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ดำเนินการเกี่ยวกับงานฐานรากให้แล้วเสร็จเป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจเข้าปฏิบัติงานภายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2544 ได้ จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงนอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การของจำเลยและมิชอบด้วยกระบวนพิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 138,324 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 135,321.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 104,976.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะชำระแก่จำเลยครบถ้วน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 138,324 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 135,321.60 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 สิงหาคม 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 3,500 บาท ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 สิงหาคม 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และให้โจทก์ชำระเงิน 104,976.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่จำเลยตามฟ้องแย้ง นับแต่วันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 11 ตุลาคม 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลของโจทก์และจำเลยให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ได้รับงานติดตั้งสถานีฐานขยายสัญญาณโครงการดีแทคจากบริษัทโทเทิล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โจทก์จึงว่าจ้างจำเลยให้ดำเนินการติดตั้งเสาอากาศหรือทาวเวอร์สถานีฐานขยายสัญญาณโครงการดีแทค 750 ที่สถานีท่าชนะ 2 อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในราคา 244,000 บาท และงานติดตั้งระบบในตู้คอนเทนเนอร์ในราคา 90,800 บาท โดยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 จำเลยรับเงินบางส่วนสำหรับงานติดตั้งเสาอากาศหรือทาวเวอร์จำนวน 76,128 บาท และสำหรับงานติดตั้งระบบในตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 28,329.60 บาท กับรับเงินค่าดำเนินการขอใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าภูมิภาคสำหรับสถานีฐานขยายสัญญาณท่าชนะ 2 ท่าล้อนและสะพัง อำเภอและจังหวัดเดียวกันแห่งละ 12,000 บาท รวม 3 แห่ง จำนวนเงิน 36,000 บาท ครั้นวันที่ 24 เดือนเดียวกัน โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการดำเนินงานสำหรับสถานีฐานขยายสัญญาณท่าชนะ 2 ไปยังจำเลย โดยระบุให้จำเลยนำเงินที่ได้รับไปจากโจทก์ไปแล้วนั้นไว้เพื่อใช้ในงานสำหรับสถานีต่อไปและวันที่ 7 มิถุนายน 2544 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยเข้าดำเนินการที่สถานีบ้านทำเนียบภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2544 แต่จำเลยไม่ดำเนินการ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการจ้างและให้คืนเงินที่ได้รับไปฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2544 กับหนังสือแจ้งให้คืนเงินค่าดำเนินการขอใช้ไฟฟ้าฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2544 แต่จำเลยไม่คืนเงินจำนวนทั้งหมดให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ดำเนินการเกี่ยวกับงานฐานราก ฐานเสา และฐานที่ตั้งตู้คอนเทนเนอร์ให้แล้วเสร็จ เป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจเข้าปฏิบัติงานภายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2544 ได้ จำเลยจึงมิใช่เป็นฝ่ายที่ผิดสัญญา เป็นข้อเท็จจริงนอกคำให้การของจำเลยซึ่งมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงนอกประเด็นและมิชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยต้องเข้าปฏิบัติงานภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2544 แต่จำเลยไม่เข้าปฏิบัติงานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยให้การต่อสู้ว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดให้จำเลยเข้าปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นไป ดังนี้ ประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จึงมีเพียงว่า ข้อตกลงที่มีต่อกันกำหนดให้จำเลยต้องเริ่มปฏิบัติงานภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2544 หรือไม่ ฉะนั้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงานฐานรากดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกมาเป็นเหตุวินิจฉัยว่าจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงนอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การของจำเลยและมิชอบด้วยกระบวนพิจารณา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 7,000 บาท

Share