แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาต่อศาลอุทธรณ์ไม่ได้ เพราะอำนาจสั่งให้รับฎีกาหรือไม่นั้น เป็นอำนาจเฉพาะของศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252
ศาลชั้นต้นสั่งตำหนิไม่รับฎีกาฉบับแรกของผู้ร้องผู้ร้องมิได้อุทธรณ์ฎีกาคำสั่งนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 แต่ยอมทำฎีกาฉบับใหม่มายื่นแทน ในฎีกาชั้นนี้ผู้ร้องจะย้อนอ้างว่าฎีกาตามสิทธิในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 อีกไม่ได้เพราะคำสั่งศาลแพ่งที่ติอุทธรณ์ของผู้ร้องขาดตอนไปแล้ว
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227,228 เป็นเรื่องคำสั่งไม่รับคำคู่ความของศาลชั้นต้นในกรณีอื่นไม่ใช่กรณีไม่รับฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าตึกแถวโจทก์เพื่อทำการค้า และจำเลยได้ใช้สถานที่เช่าประกอบการค้าตลอดมา ภายหลังจากครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาเช่าแล้ว โจทก์บอกเลิกการเช่าแก่จำเลยให้จำเลยและบริวารออกจากตึกเช่า จำเลยไม่ยอมออก ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยและบริวารออกจากตึกเช่าและใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
จำเลยให้การว่า ตึกเช่าเป็นของนายเฉ่ง นางเจิม จำเลยเช่าจากนายเฉ่งนางเจิมมา 30 ปี แล้ว โจทก์ไม่ใช้เจ้าของ ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยค่าเสียหายก็มากเกินสมควร ในวันนัดพิจารณา คู่ความตกลงกันว่า ให้ผู้ชำนาญพิสูจน์ลายมือชื่อของผู้เช่าในสัญญาเช่าที่โจทก์อ้างว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยหรือไม่
ก่อนผู้ชำนาญจะรายงานผลการตรวจพิสูจน์ลายมือตามคำท้า โจทก์แถลงว่าจำเลยถึงแก่ความตายเสียแล้ว ขอให้ศาลจำหน่ายคดี ในวันเดียวกันกับที่โจทก์แถลง นางจู แซ่ลี้ ร้องต่อศาลว่า ผู้ร้องเป็นภรรยาจำเลยอยู่กินในตึกพิพาทจนจำเลยตาย ขอรับมรดกความจำเลยต่อสู้คดีโจทก์ต่อไป
ศาลแพ่งสั่งนัดพร้อม โจทก์และผู้ร้องรับว่าจำเลยตาย โจทก์ไม่ต้องการดำเนินคดีต่อไป โจทก์ขอถอนฟ้อง ทนายจำเลยและทนายผู้ร้องคัดค้านศาลแพ่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง และที่ผู้ร้องร้องขอรับมรดกความให้ระงับเสีย
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งว่า ศาลแพ่งสั่งเรื่องโจทก์ ขอถอนฟ้องไปโดยพลการไม่ถามผู้ร้องก่อน เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และศาลแพ่งไม่มีอำนาจที่จะระงับการขอรับมรดกความ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลแพ่งได้สอบถามทนายจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรค 2(1) ส่วนผู้ร้องนั้น เมื่อศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้ว ศาลแพ่งก็ไม่จำเป็นจะต้องสั่งเรื่องขอรับมรดกความของผู้ร้อง พิพากษายืน
ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์และผู้ร้องฟังเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2506 ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2506 ผู้ร้องฎีกาศาลแพ่งสั่งในวันเดียวกันว่า ฎีกามีสกปรกหลายแห่ง และมีถ้อยคำพิมพ์ผิดยังไม่ได้แก้อ่านไม่ได้ความอีกมากแห่ง ทั้งมีข้อความกระทบกระเทียบศาล ให้คืนไปทำมาใหม่ภายในวันที่ 21 มกราคม 2506 ครั้นวันที่ 22 มกราคม 2506 ทนายผู้ร้องทำฎีกามายื่นใหม่อ้างว่าเพิ่งทราบคำสั่งเมื่อวันนั้นเอง เพราะไปว่าความต่างจังหวัด ศาลแพ่งสั่งว่า ฎีกาใหม่นี้มิได้ยื่นภายในกำหนดเวลาที่ศาลกำหนดไว้ทั้งวันที่ยื่นก็พ้นกำหนดอายุความฎีกาแล้ว ไม่รับฎีกาของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งต่อศาลอุทธรณ์ ขอให้ศาลแพ่งรับฎีกาส่งไปยังศาลฎีกาศาลแพ่งสั่งว่า การยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาเช่นนี้ ต้องยื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 จึงไม่รับเป็นอุทธรณ์
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งต่อศาลอุทธรณ์ ศาลแพ่งสั่งรับเป็นอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 234 จะยื่นอุทธรณ์โดยวิธีธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 227, 228 ไม่ได้ พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252มีใจความว่า ในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่ยอมรับฎีกาเพราะเหตุใดก็ตาม หากคำสั่งนั้นไม่เป็นที่พอใจของผู้ฎีกาและประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลฎีกาโดยตรง เพื่อศาลฎีกาจะได้พิจารณาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกานั้นชอบหรือไม่และอำนาจสั่งให้รับฎีกาหรือไม่นี้ เป็นเรื่องเฉพาะของศาลฎีกาโดยไม่ต้องผ่านศาลอุทธรณ์เสียชั้นหนึ่งก่อน
คดีนี้ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา แทนที่จะอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 ผู้ร้องกลับอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ การปฏิบัติของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความตามบทกฎหมาย ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นการอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ประกอบด้วย มาตรา 227, 228 และ 247 นั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะเมื่อศาลแพ่งสั่งตำหนิไม่รับฎีกาฉบับแรกของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งนั้น กลับยอมปฏิบัติตามโดยทำฎีกาฉบับใหม่มายื่นแทนที่จะอุทธรณ์ตามสิทธิในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ฉะนั้น ในชั้นฎีกานี้ผู้ร้องจึงจะย้อนอ้างว่าฎีกาตามสิทธิดังบัญญัติไว้ในมาตรา 18 อีกไม่ได้ เพราะคำสั่งศาลแพ่งที่ติอุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นอันขาดตอนไปแล้ว ส่วนมาตรา 227, 228 นั้นก็เป็นเรื่องคำสั่งไม่รับคำคู่ความของศาลชั้นต้นในกรณีอื่นไม่ใช่เรื่องไม่รับฎีกาที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องนั้นชอบแล้วศาลฎีกาพิพากษายืน