แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำพิพากษาของศาลชั้นต้นใส่ชื่อกฎหมายที่ใช้ลงโทษจำเลยผิดพลาดไป โดยใช้ประมวลกฎหมายอาญาแทนที่จะเป็นกฎหมายลักษณะอาญา การที่ศาลฎีกาจะแก้ให้ถูกต้องย่อมไม่เป็นผลร้ายแก่จำเลย แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตามที่ถูกต้องได้
การที่เอาความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จไปให้การต่อเจ้าพนักงาน ก็เท่ากับแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานนั่นเอง จะอ้างว่าเป็นเรื่องผู้บังคับบัญชาเรียกคนไปสอบถามเอง จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จนั้นหาได้ไม่
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 7/2507)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ๑.โจทก์รับราชการในตำแหน่งนายตรวจสรรพสามิต กรมสรรพสามิตตั้งไปเป็นหัวหน้าสายตรวจที่ ๓ หน่วยปราบปรามฝิ่นปากน้ำโพ จำเลยก็เป็นนายตรวจสรรพสามิต และกรมสรรพสามิตตั้งจำเลยเป็นผู้ช่วยโจทก์ประจำด่านตรวจฝิ่นปากน้ำโพด้วย ๒.จำเลยได้สมคบกับพวกกระทำผิดกฎหมาย คือ เนื่องจากโจทก์ได้สั่งการให้จำเลยดำเนินการจับกุมนายจรูญ สารถีกับพวก ซึ่งสมคบกันมีฝิ่นไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต บังอาจขนฝิ่นฝ่านด่านและจำเลยกับพวกจับตัวได้พร้อมฝิ่นของกลางเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ซึ่งในการนี้โจทก์จะได้รับรางวัลเป็นเงิน ๔ แสนบาทเศษ แต่จำเลยกับพวกมีเจตนาจะแย่งเงินรางวัลฝิ่นรายนี้ จึงต่อมาจำเลยกับพวกได้บังอาจนำความที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จและอาจทำให้โจทก์เสียหายได้ ไปแจ้งหรือร้องเรียนต่อทางราชากรกรมสรรพสามิตเพื่อขอรับเงินรางวัลฝิ่นดังกล่าว โดยแกล้งกล่าวหาโจทก์ด้วยความเท็จว่า โจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ โดยสั่งให้จำเลยปล่อยฝิ่นดังกล่าวผ่านด่านปากน้ำโพไป และว่าการที่จับฝิ่นของกลางกับเจ้าของนั้นเป็นการจับกุมของจำเลยกับพวกเป็นเหตุให้กรมสรรพสามิตสั่งตั้งกรรมการสอบสวนพิจารณาเงินรางวัลฝิ่นดังกล่าว ครั้นแล้วในระหว่างเดือนมกรคมถึงมิถุนายน ๒๔๙๖ จำเลยกับพวกได้บังอาจเอาความที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จและอาจทำให้โจทก์เสียหายได้ ไปให้การกล่าวโทษใส่ความโจทก์ซึ่งอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรืออาจทำให้คนทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชังโจทก์ และจำเลยกล่าวต่อหน้าคนแต่สองคนขึ้นไป โดยให้การต่อคณะกรรมการว่าโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่ราชการ สั่งให้จำเลยปล่อยฝิ่นผ่านด่านปากน้ำโพ และว่าจำเลยกับพวกเป็นผู้จับเอง หาใช่โจทก์มอบหมายไม่ ความจริงโจทก์มอบหมาย หาได้สั่งให้ปล่อยฝิ่นผ่านด่านไม่ ในที่สุดคณะกรรมการลงความเห็นว่า โจทก์สั่งให้จำเลยปล่อยฝิ่นผ่านด่าน หาใช่มอบหมายให้จำเลยดำเนินการจับกุมไม่ กรมสรรพสามิตจึงสั่งจ่ายเงินรางวัลให้จำเลยกับพวกไป ๓.กรมสรรพสามิตตั้งกรรมการสอบโจทก์ทางวินัย ครั้นเมื่อวันที่ ๑๕ ถึง ๓๐ กันยายน ๒๔๙๖ จำเลยกับพวกได้นำความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จและอาจทำให้โจทก์เสียหายได้ ไปแจ้งหรือร้องเรียนต่อคณะกรรมการดังกล่าวซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน โดยจำเลยกล่าวโทษใส่ความโจทก์ ซึ่งอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง หรืออาจทำให้คนทั้งหลายดูหมิ่นเกลียดชังโจทก์ และกล่าวต่อหน้าคนแต่สองคนขึ้นไปว่าโจทก์ได้กระทำทุจริตต่อหน้าที่ ละเว้นไม่กระทำการตามหน้าที่ รับสินบนจากเจ้าของฝิ่นเพื่อที่จะละเว้นไม่จับกุม แล้วโจทก์สั่งให้จำเลยปล่อยฝิ่นผ่านด่านปากน้ำโพ อันเป็นข้อความที่กล่าวเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญา ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๑๘,๑๕๘,๑๕๙,๒๘๒,๒๘๔,๖๓,๗๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฯ (ฉบับที่ ๓) มาตรา ๓,๔
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความผิดของจำเลยต้องด้วยกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๑๘ วรรคต้น ฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และต้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๒ ฐานหมิ่นประมาทโจทก์ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๒ ซึ่งเป็นบทหนักตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๗๐ ให้จำคุก ๖ เดือน
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลสั่งรับฎีกาในข้อกฎหมาย ๓ ข้อ
ศาลฎีกาปรึกษาในที่ประชุมใหญ่แล้ว วินิจฉัยว่า
๑.ตามฎีกาข้อที่ว่า ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว กลับลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๒ ซึ่งเป็นความผิดฐานจัดหาหญิงเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่นผิดจากบทกฎหมายที่โจทก์ขอ ศาลฎีกาจะแก้ก็ไม่ได้เพราะโจทก์ไม่ได้ฎีกา และเป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ต้องยกฟ้องนัน ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๒ นั้น เป็นถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด โดยอ้างชื่อกฎหมายผิดพลาดไป เมื่อศาลชั้นตนสั่งรับฎีกาก็ได้สั่งไว้ว่า ในคำพิพากษาศาลอาญาที่ว่า “ต้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๒ นั้น คลาดเคลื่อนไป ที่ถูกเป็น”กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ มาตรา ๒๘๒” ศาลฎีกาไม่เห็นว่าถ้าศาลฎีกาแก้คำพิพากษาศาลล่างให้ถูกต้องจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยอย่างไร และเห็นว่าศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตามที่ถูกต้องได้
๒.ตามฎีกาข้อที่ว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมานั้น ฟ้องข้อ ๒.ไม่ขาดอายุความ เพราะโจทก์ได้ร้องทุกข์ภายในอายุความ ๓ เดือนแล้ว ส่วนคดีตามฟ้องข้อ ๓ เฉพาะข้อหาฐานหมิ่นประมาทขาดอายุความจริง แต่ศาลล่างมิได้พิพากษาลงโทษเรียงกระทงความผิดตามฟ้องข้อ ๒ และข้อ ๓ และศาลฎีกาไม่เห็นควรลดโทษ จึงไม่จำต้อง+
๓.ตามฎีกาข้อที่ว่า ตามข้อเท็จจริงทีศาลล่างฟังมา ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จเพราะผู้บังคับบัญชาเรียกจำเลยมาสอบถามเองนั้น เห็นว่าการที่เอาความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จ+ให้การต่อเจ้าพนักงาน ก็เท่ากับแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานนั่นเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๑๘ ดังคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๕๗/๒๕๗๗
พิพากษาแก้เฉพาะว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๘๒