คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1134/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเท่ากับศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่า คำสั่งของจำเลยซึ่งลงนามโดยหัวหน้ากองอำนาจการผู้รับมอบอำนาจเป็นคำสั่งที่ถูกต้อง อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าคำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องจึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อวันที่ 8สิงหาคม 2529 ตำแหน่งพนักงานขับรถ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,500 บาท ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและหรือตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ ในระหว่างที่โจทก์ทำงานให้กับจำเลย จำเลยไม่เคยจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 6 วันทำงาน จำนวน 2 ปี รวม 12 วัน คิดเป็นเงิน1,400 บาท แล้วโจทก์ต้องทำงานให้จำเลยเกินวันละ 8 ชั่วโมงทุกวันโดยทำงานเกินวันละ 1-2 ชั่วโมง แต่โจทก์ขอคิดค่าล่วงเวลาวันละ1 ชั่วโมง เป็นเงินชั่วโมงละ 14.58 บาท ปีละ 300 วัน รวม 2 ปีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2531 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2533 เป็นค่าล่วงเวลาจำนวน 7,233 บาท และถือว่าจำเลยจงใจผิดนัดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จึงต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละห้าสิบของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเวลา 7 วัน ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าเดิม ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างนับแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานและให้นับอายุงานต่อเนื่องระหว่างการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากจำเลยไม่ยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงานให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เป็นเงิน 21,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 3,500 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,400 บาท และให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์เป็นเงิน 7,233 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มร้อยละห้าสิบของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเวลา 7 วัน พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าโจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่พนักงานขับรถ สังกัดกองการขนส่งจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2533 เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2533 เวลาประมาณ 24 นาฬิกา หลังจากโจทก์เสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถและนำรถขึ้นมาจอดเก็บที่ลานจอดรถชั้น 4 พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยได้ตรวจพบว่า โจทก์แอบซุกซ่อนน้ำมันเบนซินซุปเปอร์ 1 แกลลอน จำนวน 5 ลิตร ไว้ที่ท้ายรถยนต์ คันที่โจทก์นำออกปฏิบัติงาน โดยโจทก์ได้นำถังน้ำมันจำนวนดังกล่าวใส่ไว้ในกระเป๋าใส่ภาชนะของโจทก์เพื่อเตรียมนำออกไปภายนอกบริษัท การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการทำงานหรือคำสั่งของจำเลยอันเป็นความผิดกรณีร้ายแรง เพราะจำเลยได้มีคำสั่งห้ามพนักงานขับรถมีน้ำมันไว้ในความครอบครองและนำเข้าและออกไปภายนอกบริษัท อีกทั้งการกระทำของโจทก์ส่อเจตนาทุจริตมีพฤติการณ์ ที่น่าเชื่อได้ว่าแอบลักลอบดูดน้ำมันในรถยนต์ของจำเลยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และหลังเกิดเหตุก็ไม่ยอมนำสมุดเติมน้ำมันไปตรวจความสิ้นเปลือง แล้วยังถอนสายไมล์ ของรถอีกภายหลังเกิดเหตุจำเลยได้สอบสวนโจทก์แล้ว โจทก์ยอมรับสารภาพว่ามีน้ำมันอยู่ในความครอบครองตามที่ถูกกล่าวหาจริง ฉะนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าเสียหายใด ๆจากจำเลย จำเลยมีระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดว่าพนักงานที่จะขอหยุดพักผ่อนประจำปีให้แจ้งวันที่จะหยุดให้จำเลยพิจารณาอนุมัติได้ และพนักงานที่มีสิทธิหยุดพักผ่อนในปีใด ๆถ้าไม่ใช้สิทธิขอหยุด จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสตอบแทนให้ถือเป็นเบี้ยขยันในการทำงาน และถ้าพนักงานไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปีใด ๆ แล้ว ไม่มีสิทธินำวันหยุดพักผ่อนประจำปีมารวมสมทบขอหยุดในปีต่อ ๆ ไปได้ โจทก์ไม่เคยใช้สิทธิขอหยุดพักผ่อนประจำปีเลยและจำเลยได้จ่ายเงินตอบแทนในกรณีที่โจทก์ทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ในอัตราสูงสุดแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากจำเลยได้ จำเลยได้แบ่งระบบการทำงานของพนักงานขับรถไว้ทั้งหมด 3 ผลัด ในแต่ละวัน โดยให้พนักงานขับรถทำงานวันละ 8 ชั่วโมง และจำเลยก็ไม่ได้ให้โจทก์ทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 36(3) ว่าด้วยงานที่เกี่ยวกับการขนส่งลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาจากนายจ้าง ดังนั้นจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ และจำเลยไม่มีเจตนากลั่นแกล้งหรือจงใจไม่ชำระค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มร้อยละห้าสิบของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเวลา 7 วัน ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าคำสั่งของจำเลยที่ 028/2529 เอกสารหมาย ล.3 เป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องเพราะจำเลยมิให้นำหนังสือมอบอำนาจที่กรรมการบริษัทจำเลยมอบให้นายเลิศ อัศเวศน์ มีอำนาจลงนามออกคำสั่งดังกล่าวมาแสดงและนายเลิศ อัศเวศน์ มิได้เป็นหัวหน้ากองการขนส่งที่จะออกคำสั่งนี้ได้ คำสั่งจึงใช้บังคับแก่โจทก์มิได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กระทำการผ่าผืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยดังกล่าวในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมซึ่งเท่ากับศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่า คำสั่งของจำเลยดังกล่าวซึ่งลงนามโดยนายเลิศ อัศเวศน์ หัวหน้ากองอำนวยการ ผู้รับมอบอำนาจเป็นคำสั่งที่ถูกต้อง อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ได้ทำงานล่วงเวลาเพื่อล้างรถเนื่องจากหัวหน้ากองการขนส่งเป็นผู้สั่งให้ทำ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาและเงินเพิ่มตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้ออุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่าไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน”
พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์

Share