แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1584 (แก้ไขใหม่ มาตรา 1598/25) ประกอบกับพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478 มาตรา 22 บัญญัติแต่เพียงว่า การจดทะเบียนบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสเท่านั้นไม่ได้บังคับว่าจะต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเอง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานได้บันทึกไว้ว่าคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมได้มีหนังสือให้ความยินยอมถึงคณะกรมการอำเภอ ย่อมเป็นการเพียงพอแล้ว การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมสมบูรณ์ตามกฎหมาย
การที่ศาลจะสั่งถอดถอนผู้จัดการมรดกได้ ไม่จำเป็นว่าผู้จัดการมรดกจะต้องมีความผิด เมื่อศาลตั้งผู้คัดค้านเป็นผุ้จัดการมรดกนั้นยังไม่ปรากฏทายาทอันดับหนึ่ง แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องเป็นทายาทอันดับหนึ่งมีสิทธิรับมรดกแต่ผู้เดียว ผู้คัดค้านมิได้เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายและมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก จึงไม่มีสิทธิจัดการมรดกต่อไป ศาลมีอำนาจถอดถอนได้
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากผู้ตายได้ถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ผู้ตายไม่มีบุตรแต่มีทายาทอื่น ๑๙ คน รวมทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกศาลมีคำสั่งตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก การแบ่งปันมรดกยังไม่เสร็จสิ้น ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ร้องเป็นทายาทอันดับหนึ่งมีสิทธิได้รับมรดกแต่ผู้เดียว ผู้ร้องแจ้งให้ผู้คัดค้านโอนมรดกให้แก่ผู้ร้องแล้วไม่ยอมโอนให้จึงขอให้ศาลถอนผู้คัดค้าน จากการเป็นผู้จักการมรดกแล้วตั้งผู้ร้องเป็นแทน และมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแต่ผู้เดียว
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่บุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายการจดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมไม่ชอบและไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วฟังว่าผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีคำสั่งว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับมรดกแต่ผู้เดียว ให้ถอนผู้คัดค้านจากผู้จัดการมรดกโดยตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแทน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลวินิจฉัยว่า ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไม่สมบูรณ์ เพราะการให้ความยินยอมของคู่สมรสไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘๔ ที่ใช้อยู่ในขณะนั้นประกอบกับพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๒๒ คงบัญญัติแต่เพียงว่า การจดทะเบียนบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสเท่านั้น ไม่ได้บังคับว่าจะต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเอง ที่เจ้าพนักงานได้ทำบันทึกไว้ว่าคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมได้เขียนหนังสือให้ความยินยอมถึงคณะกรมการอำเภอย่อมเป็นการเพียงพอแล้ว การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ศาลจะสั่งถอดถอนผู้จัดการมรดกจะต้องมีความผิด เมื่อศาลตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกนั้นยังไม่ปรากฏทายาทอันดับหนึ่ง แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องเป็นทายาทอันดับหนึ่งมีสิทธิรับมรดกแต่ผู้เดียว ผู้คัดค้านมิได้เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย และมิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก จึงไม่มีสิทธิจัดการมรดกต่อไป ศาลมีอำนาจถอดถอนได้
พิพากษายืน.