แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะไฟไหม้บ้าน ส. จำเลยไม่เห็นโจทก์ แต่จำเลยเบิกความว่าจำเลยมองไปที่บ้านของ ส.เห็นโจทก์วิ่งไปทางตะวันตกแล้วลงคลองไป จึงเป็นการเบิกความเท็จทั้งความเท็จนั้นหากศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยเบิกความอาจเป็นผลให้โจทก์ได้รับโทษได้จึงเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยจึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177,181
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง, 181(2) ลงโทษจำคุก 5 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยมีความผิดฐานเบิกความเท็จตามฟ้องหรือไม่ในปัญหาดังกล่าวต้องพิจารณาก่อนว่า ในวันเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านนายสุบิน ศรีชาติ นั้น จำเลยได้เห็นโจทก์เข้าไปในบริเวณบ้านของนายสุบินที่เพลิงไหม้หรือไม่ ปัญหาข้อนี้ได้ความตามคำให้การชั้นสอบสวนคดีความผิดข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นคือ วางเพลิงเผาบ้านนายสุบิน ซึ่งเป็นพยานเอกสารของโจทก์เอกสารหมาย จ.5 ปรากฏว่า จำเลยให้การชั้นสอบสวนคดีดังกล่าวว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยไม่เห็นนายเลี่ยม (โจทก์) แต่นายเลี่ยมกับนางสายบัว (จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว) ซึ่งเป็นสามีภรรยากันจำเลยเห็นไปไหนด้วยกันเสมอ คำให้การชั้นสอบสวนตามเอกสารหมายจ.5 จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ในวันเกิดเหตุคดีดังกล่าวอันเป็นเวลากระชั้นชิด จำเลยไม่มีเวลาเสริมแต่งถ้อยคำประการใดเชื่อว่าจำเลยให้การไปตามที่รู้เห็นจริง จำเลยนำสืบอ้างว่าคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวที่ว่าจำเลยไม่เห็นนายเลี่ยม (โจทก์)ก่อนเกิดเหตุไม่ถูกต้องไม่เคยให้การเช่นนั้น ย่อมไม่อาจรับฟังได้เพราะจำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่าเอกสารหมาย จ.5 พนักงานสอบสวนได้อ่านให้ฟังเห็นว่าถูกต้องจึงลงลายมือชื่อไว้ จึงเชื่อว่า วันเกิดเพลิงไหม้บ้านนายสุบิน จำเลยไม่เห็นโจทก์ในบริเวณบ้านนายสุบินแต่อย่างใด ดังนั้น การที่จำเลยเบิกความต่อศาลในการพิจารณาคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2531 ว่า ฯลฯ ข้าฯ สงสัยจึงมองไปที่บ้านโจทก์ (นายสุบิน) เห็นจำเลยที่ 1 (โจทก์) วิ่งไปทางตะวันตกแล้วลงคลองไปตามเอกสารหมาย จ.2 นั้น จึงเป็นการเบิกความเท็จ ทั้งความเท็จนั้นหากศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยเบิกความอาจเป็นผลให้โจทก์ได้รับโทษในคดีดังกล่าวจึงเป็นข้อสำคัญในคดีนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จตามฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่า ถ้าเบิกความเท็จจำเลยคงไม่เบิกความตรงกันทั้งสามคดีหรือฎีกาว่าที่จำเลยให้การชั้นสอบสวนปรากฏตามเอกสารหมายจ.5 เพราะพนักงานสอบถามไม่ชัดเจนก็ดีนั้น เห็นว่าเป็นข้อฎีกาที่ฟังไม่ขึ้นเพราะการที่เบิกความเหมือนกันทั้งสามคดีอาจเป็นการซักซ้อมเตรียมตัวมาก่อนเป็นอย่างดีจึงเบิกความเหมือนกันก็ย่อมได้ไม่เป็นข้อชี้ชัดว่าจำเลยไม่ได้เบิกความเท็จแต่อย่างใด”
พิพากษายืน