คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1977/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

1. การร้องทุกข์นั้น ย่อมมอบอำนาจให้ร้องทุกข์แทนกันได้
(อ้างฎีกาที่ 890/2503)
2. ในคดีอาญา อัยการไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จำเลยยักยอกไป เพราะดอกเบี้ยไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไป เนื่องจากการกระทำผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 แต่เนื่องจากผู้เสียหายได้เป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ โดยถือเอาคำฟ้องของพนักงานอัยการเป็นของตนเช่นนี้ถือได้ว่า ผู้เสียหายได้เรียกดอกเบี้ยแล้วแต่เมื่อยังไม่ได้เสียค่าธรรมเนียมเนื่องจากการฟ้องเรียกดอกเบี้ยมารวมทั้ง 3 ศาลเช่นนี้ ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้เรียกได้ เมื่อเสียค่าธรรมเนียมแล้ว จึงจะพิจารณาวินิจฉัยต่อไปเกี่ยวกับกรณีนี้ได้
3. จำเลยเป็นผู้จัดการธนาคารยักยอกเงินธนาคาร ถือว่าเป็นการกระทำในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนตามถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 แล้ว
4. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 เป็นคุณแก่จำเลยว่ากฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 319
(ข้อ 2 โดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 26/2505)

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้พิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องทำนองเดียวกันว่า จำเลยเป็นผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขานครราชสีมา ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลรักษาและครอบครองทรัพย์สินของธนาคารไว้เพื่อกิจการของธนาคารโดยชอบ จำเลยจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จำเลยร่วมกับนายเยี่ยมได้ยักยอกเงินฝากธนาคารในสำนวนแรก ๓๗๒,๗๘๒ บาท ในสำนวนหลัง ๗๕๐,๐๐๐ บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓, ๓๕๔, ๘๓ กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๑๔, ๓๑๙,๖๓ กับขอให้ใช้ทรัพย์และนับโทษติดต่อกัน
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ธนาคารกสิกรไทยจำกัด โดยนายเกษม ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นฟังว่า การที่จำเลยนำเงินของธนาคารไปใช้ ก็โดยนายเกษม ล่ำซำ ผู้จัดการใหญ่ยินยอมจำเลยไม่มีเจตนาทุจริต และผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
อัยการโจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยทำผิดจริงตามฟ้อง คดีไม่ขาดอายุความ แต่เห็นว่าอัยการไม่มีสิทธิฟ้องเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จำเลยยักยอก กับเห็นว่าจำเลยเป็นแต่เพียงได้รับความไว้วางใจของธนาคารกสิกรไทย จำกัด เท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๔ ที่โจทก์อ้าง จึงพิพากษากลับว่าจำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๑๔ ทั้งสองสำนวน ให้จำคุกจำเลยรายกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ กระทงละ ๑ ปี ๖ เดือน รวมเป็น ๓ ปี กับให้จำเลยคืนเงิน ๑,๑๒๒,๗๘๒ บาท แก่ผู้เสียหาย คำฟ้องและคำขอนอกจากนี้ให้ยก
แต่มีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งเห็นแย้งว่า นายเกษม ล่ำซำ ผู้เสียหายไม่มีอำนาจมอบให้นายเพ็ญ สิมะเสถียร ร้องทุกข์แทน อ้างฎีกาที่ ๑๘๕๗/๒๔๙๙ อัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ควรยกฟ้องทั้ง ๒ สำนวน
โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา
ในปัญหาเรื่องร้องทุกข์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การร้องทุกข์นั้นย่อมมอบอำนาจให้ร้องทุกข์แทนกันได้ อ้างฎีกาที่ ๘๙๐/๒๕๐๓
ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า ในคดีอาญา อัยการมีสิทธิฟ้องเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จำเลยยักยอกได้นั้น ศาลฎีกาได้ปรึกษาโดยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๔๓ บัญญัติว่า “คดี ฯลฯ ยักยอก ฯลฯ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย” ดังนี้ และมิให้เรียกค่าธรรมเนียมโดยบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๓ แห่งกฎหมายที่กล่าวแล้ว แต่เห็นว่าดอกเบี้ยนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด เพราะฉะนั้นในคดีนี้ พนักงานอัยการจึงฟ้องเรียกค่าดอกเบี้ยไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี การที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมโดยถือเอาคำฟ้องของพนักงานอัยการเป็นของตนเช่นนี้ ถือได้ว่าผู้เสียหายได้เรียกดอกเบี้ยแล้ว แต่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมยังมิได้เสียค่าธรรมเนียมตามกฎหมายเลย จึงให้ส่งสำนวนกลับไปให้ศาลชั้นต้นเรียกค่าธรรมเนียมเฉพาะดอกเบี้ยทั้ง ๓ ศาล จากผู้เสียหาย ซึ่งเป็นโจทก์ร่วม และบัดนี้ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการตามคำสั่งแล้ว จึงจะได้พิจารณาสั่งในเรื่องนี้ต่อไป
ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า จำเลยเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เดิมได้มีบทบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๑๙ (๓) และต่อมาก็ได้ขยายความข้อนี้และบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๔ ซึ่งเห็นได้ว่า กฎหมายมุ่งถึงการกระทำเกี่ยวกับธุรกิจที่ประกอบเป็นหลักเกณฑ์และงานที่จำเลยทำอยู่นี้ก็เป็นกิจการหรือธุรกิจการธนาคารอันเห็นได้ว่า เป็นสถานที่ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประกอบการธนาคารอันได้รับความไว้วางใจ เกี่ยวกับการเงินจากประชาชน โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการแทนธนาคาร ด้วยเหตุนี้จึงถือได้ว่า การกระทำของจำเลยต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๔ ซึ่งกำหนดโทษไว้หนักกว่าการยักยอกธนาคาร แต่การกระทำของจำเลยตามสำนวนหลังเป็นการกระทำก่อนใช้ประมวลกฎหมายอาญา ส่วนสำนวนแรกเกิดขึ้นระหว่างใช้กฎหมายลักษณะอาญาและประมวลกฎหมายอาญาจึงต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๔ ซึ่งมีโทษเบากว่า
ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นอีก ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดการธนาคาร อันเป็นกิจการที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับการเงินมากระทำผิดโดยใช้ความรู้ความเฉลียวฉลาดและความชำนาญในหน้าที่โดยวิธีอันยอกย้อนซ่อนเงื่อนเสียเอง นับว่าเป็นการกระทำผิดร้ายแรง อาจกระทบกระเทือนกิจการการธนาคารและเศรษฐกิจของบ้านเมืองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยมาแล้ว จึงนับว่าเบาไป
ศาลฎีกาพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๔ ทั้ง ๒ สำนวน ให้จำคุกจำเลยเป็นรายกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ กระทงละ ๒ ปี ๖ เดือน รวมเป็นโทษจำคุก ๕ ปี กับให้จำเลยคืนเงิน ๑,๑๒๒,๗๘๒ บาท และดอกเบี้ยอีก ๓๔,๐๑๔ บาท รวมเป็นเงิน ๑,๑๕๖,๗๙๖ บาทแก่ผู้เสียหาย และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสามศาลและค่าทนายความสามศาลห้าร้อยบาทแทนโจทก์ร่วมด้วย

Share