คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยไม่ได้ตกลงกันว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นเมื่อใด สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีกัน และเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 858,859 โจทก์หักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2527 และฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2531 ยังไม่ถึง 10 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ผู้ค้ำประกันย่อมต้องรับผิดตามสัญญาเพียงเท่าที่ตนยอมค้ำประกันเท่านั้น จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 20,000 บาท ปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันว่า จำเลยที่ 1กลับมาเป็นลูกหนี้โจทก์อีกครั้งในวันที่ 26 พฤษภาคม 2518 เป็นเงิน611.94 บาท โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่วันนี้ วิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นเพื่อให้ผู้ค้ำประกันรับผิดนั้นต้องดูรายการที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์เต็มตามวงเงินที่ค้ำประกันเป็นวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยทบต้น จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์เต็มตามวงเงินค้ำประกันเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2518 เป็นเงิน 20,078.24บาท จึงให้ถือเอาวันที่ 29 กรกฎาคม 2518 เป็นวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยทบต้นในต้นเงิน 20,000 บาท จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2530ซึ่งเป็นวันครบกำหนดบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้อันเป็นวันที่บัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง ต่อจากนั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามปกติไม่ทบต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2516 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 20,000 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์คิดหักทอนบัญชีในวันที่ 27 มิถุนายน 2527จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 46,662.71 บาท วันที่ 13 สิงหาคม 2530โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 46,662.71 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้ทำสัญญาค้ำประกันเฉพาะต้นเงินเพียง 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี เป็นเวลาเพียง 5 ปี โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นทุกเดือน สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ทำขึ้น เมื่อวันที่ 14 กันยายน2516 มีกำหนดเวลา 6 เดือน จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2518 นับถึงบัดนี้เป็นเวลา 13 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ช่วงเดือนพฤษภาคม 2518 จำเลยที่ 2 นำเช็คเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 จนทำให้จำเลยที่ 1 กลับเป็นเจ้าหนี้โจทก์และจำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าการค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ได้สิ้นสุดแล้ว แต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 สมคบกันให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปอีก เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 46,662.71 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 27มิถุนายน 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ ต้องพิจารณาเสียก่อนว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นขาดอายุความแล้วหรือไม่ เพราะหากฟังว่าคดีของจำเลยที่ 1 ขาดอายุความแล้วย่อมมีผลให้จำเลยที่ 2ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปด้วย สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้กันไว้ โดยที่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด กรณีต้องนำบทบัญญัติเกี่ยวกับบัญชีเดินสะพัดมาปรับแก่คดี กล่าวคือการชำระหนี้ย่อมต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำได้เมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ไม่ได้ตกลงกันว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นเมื่อใด สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีกันและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 858, 859 โจทก์หักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27มิถุนายน 2527 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่หักทอนบัญชีกันและเรียกให้ชำระเงินคงเหลือ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2530 แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2531 ยังไม่ถึง 10 ปี คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความด้วย
ปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์เพียงใด เห็นว่าผู้ค้ำประกันย่อมต้องรับผิดตามสัญญาเพียงเท่าที่ตนยอมค้ำประกันเท่านั้น จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2516 ในวงเงิน 20,000 บาท แต่ตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.9 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2518 จำเลยที่ 2ได้นำเงินเข้าบัญชีและหักทอนหนี้หมดแล้วกลับเป็นเจ้าหนี้โจทก์จำนวนเงิน 2,288.06 บาท ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2518 จำเลยที่ 1จึงกลับเป็นลูกหนี้โจทก์อีกเป็นเงิน 611.94 บาท โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตั้งแต่วันนี้ ดอกเบี้ยที่ทบเข้ากับต้นเงินนั้นถือเป็นต้นเงินต่อไป วิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นเพื่อให้ผู้ค้ำประกันรับผิดจึงต้องดูรายการบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.9 ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2518 เป็นต้นไป และถือเอารายการที่จำเลยที่ 1เป็นลูกหนี้โจทก์เต็มตามวงเงินที่ค้ำประกันเป็นวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยทบต้น ปรากฏตามรายการบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.9 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์เต็มวงเงินค้ำประกันเมื่อวันที่ 29กรกฎาคม 2518 เป็นเงิน 20,078.24 บาท จึงให้ถือเอาวันที่ 29 กรกฎาคม2518 เป็นวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยทบต้นในต้นเงิน 20,000 บาท จนถึงวันที่บัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง ต่อจากนั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามปกติไม่ทบต้น ได้ความว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2530 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม2530 ซึ่งจะครบกำหนดชำระในวันที่ 30 สิงหาคม 2530 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2530 หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยได้อย่างธรรมดาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีไม่ทบต้น แต่โดยที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2527 ซึ่งเป็นวันหักทอนบัญชี จึงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันที่27 มิถุนายน 2527 ตามที่ขอ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในต้นเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนอัตราร้อยละ15 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2518 จนถึงวันที่ 27 มิถุนายน2527 ต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยตามปกติจากต้นเงินที่รวมดอกเบี้ยทบต้นเข้าด้วยแล้วในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28มิถุนายน 2527 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม1,800 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share