คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7073/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท ฟ. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวแต่ผู้เดียว ได้จำหน่ายสินค้าของบริษัทโดยระบุประเภท น้ำหนักของสินค้าและจำนวนเงินที่จำหน่ายสินค้าได้แต่ละวันแล้วเบียดบังเงินที่จำหน่ายสินค้าได้นั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริตเช่นนี้ จำเลยสามารถเข้าใจข้อหาได้โดยถูกต้องแล้วว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดอย่างไร ถึงแม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยเบียดบังเอาเงินของบริษัทไปอย่างไร ด้วยวิธีการใดก็เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นกรรมการของบริษัทฟรีซโซนคอร์ปอเรชั่น จำกัด ประกอบกิจการค้าน้ำยาเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น อะไหล่และอุปกรณ์ โดยจำเลยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของบริษัทแต่ผู้เดียวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 จนถึงปัจจุบัน ระหว่างเวลาดังกล่าวจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ วันที่ 5 กรกฎาคม 2542 เวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยจำหน่ายน้ำยาทำความเย็นประเภท อาร์,12 ของบริษัท 65 กิโลกรัม เป็นเงิน 8,450 บาท ให้แก่ผู้มีชื่อ แล้วเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต วันที่ 12 กรกฎาคม 2542 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยจำหน่ายน้ำยาทำความเย็นประเภท อาร์. 12 ของบริษัท 65 กิโลกรัม เป็นเงิน 8,450 บาท ให้แก่ผู้มีชื่อแล้วเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต วันที่ 17 กรกฎาคม 2542เวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยจำหน่ายน้ำยาทำความเย็นประเภท อาร์.12 ของบริษัท 65 กิโลกรัม เป็นเงิน 8,450 บาท ให้แก่ผู้มีชื่อ แล้วเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต วันที่ 22 กรกฎาคม 2542 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยจำหน่ายน้ำยาทำความเย็นประเภท อาร์.12 ของบริษัท 65 กิโลกรัม เป็นเงิน 8,450 บาท ให้แก่ผู้มีชื่อแล้วเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต วันที่ 27 กรกฎาคม 2542 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยจำหน่ายน้ำยาทำความเย็นประเภท อาร์.12 ของบริษัท 40 กิโลกรัม เป็นเงิน 5,200 บาท ให้แก่ผู้มีชื่อแล้วเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต วันที่ 2สิงหาคม 2542 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยจำหน่ายน้ำยาทำความเย็นประเภท อาร์.12 ของบริษัท 65 กิโลกรัม เป็นเงิน 8,450 บาท ให้แก่ผู้มีชื่อแล้วเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต วันที่ 31สิงหาคม 2542 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยจำหน่ายน้ำยาทำความเย็นประเภท อาร์. 22 ของบริษัท 170.1 กิโลกรัม เป็นเงิน 21,262.50 บาท ให้แก่ผู้มีชื่อแล้วเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต วันที่ 3 กันยายน 2542 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยจำหน่ายน้ำยาทำความเย็นประเภท อาร์.22 ของบริษัท 56.7 กิโลกรัม เป็นเงิน 7,087.50 บาท ให้แก่ผู้มีชื่อแล้วเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริตระหว่างวันที่ 6 มีนาคม 2542 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2542 วันและเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยจำหน่ายท่อบรรจุน้ำยาทำความเย็นขนาด 65 กิโลกรัมของบริษัทให้แก่บุคคลภายนอก 23 ท่อ เป็นเงิน 69,000 บาท แล้วเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต และระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2542 วันและเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยจำหน่ายท่อบรรจุน้ำยาทำความเย็นขนาด 13.6 กิโลกรัม ของบริษัทให้แก่บุคคลภายนอก77 ท่อ เป็นเงิน 7,700 บาท แล้วเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352, 353

วันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงงดไต่สวนมูลฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงวันเวลาเกิดเหตุหน้าที่และการกระทำของจำเลยว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทฟรีซโซน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวแต่ผู้เดียวได้จำหน่ายสินค้าของบริษัทโดยระบุประเภท น้ำหนักของสินค้าและจำนวนเงินที่จำหน่ายสินค้าได้แต่ละวันแล้วเบียดบังเงินที่จำหน่ายสินค้าได้นั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริตแล้วยังได้บรรยายถึงสถานที่เกิดเหตุ คำบรรยายฟ้องเช่นนี้จำเลยสามารถเข้าใจข้อหาได้โดยถูกต้องแล้วว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดอย่างไร ถึงแม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุจำเลยเบียดบังเอาเงินของบริษัทไปอย่างไรด้วยวิธีการใดดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาเพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งหรือคำพิพากษาตามรูปคดี

Share