คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 790/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ระบุว่า “ผู้กู้ยอมชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราตามที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ไป และผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนด โดยที่ผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบแต่อย่างใด” แสดงว่าเป็นการคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่กำหนดให้โจทก์มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แม้จำเลยจะมิได้ผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ แม้เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ก็ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยแบบไม่ทบต้นในอัตราที่ตกลงตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เพราะถือว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้นแล้ว และไม่ทำให้สภาพของดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยอันมีอยู่แต่เดิมต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นเบี้ยปรับ แต่สิทธิของโจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยย่อมมีอยู่ก่อนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดเท่านั้น หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดคำนวณดอกเบี้ยโดยอาศัยตามประกาศของโจทก์ดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 3,265,422.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 2,192,180.88 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1343 ตำบลหนองม่วง อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะในข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจะถือว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379ได้หรือไม่ ในปัญหานี้เห็นว่า ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 2 ระบุว่า”ผู้กู้ยอมชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราตามที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ไป และในวันทำสัญญาดังกล่าว ผู้ให้กู้ได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ เอ็ม โอ อาร์ บวก2.5 ต่อปี… ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดโดยที่ผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบแต่อย่างใด” แสดงว่าเป็นการคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่กำหนดให้โจทก์มีสิทธิขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แม้จำเลยจะมิได้ผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 แม้เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้วในวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ก็ยังมีสิทธิเรียกเอาหนี้ทั้งหมดจากจำเลย หมายความว่าโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราที่ตกลงตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นเพราะกรณีดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้นแล้วและไม่ทำให้สภาพของดอกเบี้ยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยอันมีอยู่แต่เดิมต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นเบี้ยปรับดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แต่อย่างไรก็ตามสิทธิของโจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยย่อมมีอยู่ก่อนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดเท่านั้น ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์จะคิดคำนวณเอาจะต้องเป็นอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของโจทก์ เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ประกาศใช้ในขณะที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง คือ ในวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2541 เท่านั้น ในอัตราเอ็ม โอ อาร์ บวกร้อยละ 2.5 ต่อปี หลังจากนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดคำนวณดอกเบี้ยโดยอาศัยตามประกาศของโจทก์ เรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ปรับเปลี่ยนเป็นคราว ๆ ซึ่งเป็นประกาศของโจทก์หลังจากที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้สิ้นสุดไปแล้วดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่าดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากจำเลยหลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงเป็นเบี้ยปรับนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,192,180.88 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราตามประกาศของโจทก์เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ประกาศใช้ในช่วงวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2541 ของต้นเงินดังกล่าวบวกร้อยละ 2.5 ต่อปี (เอ็ม โอ อาร์ บวกร้อยละ2.5 ต่อปี) นับแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2541 จนถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2544 และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 นับจากวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share